“สิงห์ เอสเตท” เตรียมขายหุ้นกู้ ชูดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี

10 ม.ค. 2567 | 08:34 น.

“สิงห์ เอสเตท” เตรียมขายหุ้นกู้ชุดใหม่ อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี คาดเปิดจอง 8 – 9 และ 12 ก.พ. 2567 ตอกย้ำความแข็งแกร่งของธุรกิจปี 2566 ด้วยรายได้รวมกว่าหมื่นล้านบาท ใน 9 เดือนแรก

สิงห์ เอสเตท ยื่น filing เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ ต่อประชาชนเป็นการทั่วไป อายุ 3 ปี ที่อัตราดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี โดยคาดว่าจะเสนอขายระหว่างวันที่ 8 – 9 และ 12 ก.พ. 2567 พร้อมอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้อยู่ที่ “BBB” ซึ่งเป็นกลุ่ม “ระดับลงทุน” (Investment Grade) ขณะที่อันดับความน่าเชื่อถือองค์กรอยู่ที่ “BBB+” แนวโน้ม “คงที่” (Stable) จากการจัดอันดับโดยทริสเรทติ้ง 

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S เปิดเผยว่า หลังจากประสบความสำเร็จจากการเสนอขายหุ้นกู้ในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยปิดการขายรวมมูลค่าเสนอขายทั้งสิ้น 1,700  ล้านบาท บริษัท เตรียมพร้อมที่จะเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ต่อประชาชนเป็นการทั่วไป โดยได้ยื่นคำขออนุญาตและแบบแสดงรายการข้อมูลตราสารหนี้ (filing) เพื่อเสนอขายหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)

หุ้นกู้ดังกล่าวอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก ๆ 3 เดือน กำหนดจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท โดยคาดว่าจะเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไประหว่างวันที่ 8 – 9 และ 12 ก.พ. 2567  โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ที่ระดับ “BBB” ซึ่งเป็นกลุ่ม “ระดับลงทุน” (Investment grade) ขณะที่อันดับความน่าเชื่อถือองค์กรอยู่ที่ระดับ “BBB+” แนวโน้ม “คงที่” (Stable)

โดยทริสเรทติ้ง ระบุว่า อันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวสะท้อนผลการดำเนินงานในธุรกิจโรงแรมของบริษัทฯ ที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแผนการขยายโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ รวมถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ที่มองว่าภาระหนี้สินของบริษัทฯ จะอยู่ในทิศทางที่ลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า 

สำหรับผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 นั้น บริษัทฯ มีรายได้รวมจากการขายและการบริการ 10,072 ล้านบาท โดยรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ เติบโตโดดเด่นถึง 34% ด้วยแรงส่งสำคัญจากการเปิดตัว 3 โครงการ ภายใต้ 3 แบรนด์ซึ่งรวมถึงโครงการใหญ่ S’RIN ราชพฤกษ์-สาย 1 ที่มีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาทและพร้อมเริ่มรับรู้รายได้ทันที 

ขณะที่รายได้จากธุรกิจให้บริการปรับตัวเพิ่มขึ้น 16% ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของธุรกิจโรงแรม และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงการปรับปรุงห้องพักโรงแรมสำคัญในไทยและฟิจิในไตรมาส 4 เพื่อเตรียมต้อนรับผู้เข้าพักในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หนุนให้อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยรายวัน (ADR) มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมาก 

สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้ายังคงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จากการทยอยรับรู้รายได้ตามการส่งมอบพื้นที่เช่าของอาคารเอส โอเอซิส (S OASIS) รวมถึงธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน ก็ยังมีแนวโน้มดีอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

"รายได้ของสิงห์ เอสเตท ในช่วง 9 เดือนแรกสามารถเติบโตได้ตามแผนการลงทุน ควบคู่กับการคุมต้นทุนต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับช่วงการขยายธุรกิจและเปิดตลาดใหม่ ส่งผลให้เรามีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำจากการดำเนินงานปกติ (Adjusted EBITDA) ที่ 2,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน” 

ผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นตัวพิสูจน์การปรับตัวทางธุรกิจให้สามารถช่วงชิงโอกาสได้ทันกับการฟื้นตัวของธุรกิจที่พักอาศัยและโรงแรม และสะท้อนผลสำเร็จจากการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกค้า ที่สิงห์ เอสเตทได้ทำมาตลอด และเราเชื่อมั่นว่าในไตรมาสที่ 4 เราจะสามารถขับเคลื่อนผลประกอบการที่สูงที่สุดในปีได้ 

เนื่องจากการรับรู้ยอดโอนของโครงการใหม่ สริน ราชพฤกษ์สาย 1 ที่มีมูลค่า 3,800 ล้านบาทและเปิดตัวในต้นไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจอย่างดีและมียอดจองเป็นไปตามเป้าหมายกว่า 10% รวมถึงพอร์ตโรงแรมของ SHR ซึ่งเป็นผลจากการที่ห้องพักรูปแบบใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว พร้อมเปิดให้บริการลูกค้าในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของปี พร้อมทั้งปริมาณความต้องการเดินทางของลูกค้า Long-haul market ที่กลับมาคึกคักอีกครั้งตามการเปิดเส้นทางบิน 

“เรามีความมั่นใจที่จะทำตามเป้าหมายในการสร้างรายได้ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์และวางรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อมุ่งเป้าสู่การเติบโตระยะยาว ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการเงินที่ดี และการเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมที่สุดกับสภาวะตลาดในแต่ละช่วง เพื่อเพิ่มความพร้อมในการสนับสนุนการขยายการเติบโตให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่องและคงระดับสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนให้เป็นไปตามนโยบายในการบริหารจัดการของบริษัท” นางฐิติมา กล่าวเสริม