สินเชื่อมอเตอร์ไซค์เข้ม ยอดปฏิเสธ พุ่งเกิน 40%

03 ธ.ค. 2566 | 06:11 น.

นายกสมาคมเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ ชี้ “ธุรกิจเผชิญต้นทุนสูง-กำลังซื้อลดลง” ต้องเข้มคัดกรองลูกค้าใช้รถจริง และมีความสามารถในการผ่อนชำระ ดันยอดปฏิเสธพุ่งเกิน 40% หวังฝ่าด่านแก๊งรับจ้างออกรถขายชายแดนระบาดหนัก

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) รายงานยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศเดือนตุลาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 134,978 คันลดลง 4.58% จากเดือนก่อนหน้าและลดลง 0.72% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ภาพรวม 10 เดือนแรก ยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งสิ้น 1,581,316 คัน เพิ่มขึ้น 5.66% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565

นางสาวบุปผา  ไชยพิณ นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อรถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ทั้งรถใหม่และรถมือสองปีนี้ยังขึ้นกับสถานการณ์ยอดขายรถมอเตอร์ไซด์ ซึ่งทั้งปี 2566 น่าจะมียอดขายประมาณ 1.8 ล้านคันหรือไม่เกิน 1.9 ล้านคัน จากสัญญาณยอดขายมอเตอร์ไซด์ที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ยอดขายร่วง 5.5% และเดือนกันยายนร่วงไป 4.3% เพราะเป็นช่วงฤดูฝน 

 

สินเชื่อมอเตอร์ไซค์เข้ม  ยอดปฏิเสธ พุ่งเกิน 40% ขณะเดียวกัน ปัจจุบันยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่เอื้อต่อการธุรกิจมอเตอร์ไซด์ เพราะกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนรากหญ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพอิสระที่มีรายได้เป็นรายวัน ทำให้ความต้องการสินเชื่อหรือกำลังซื้อจะขึ้นกับการมีงานทำหรือมีรายได้ ดังนั้นหากยังไม่เห็นโครงการภาครัฐหรือโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐออกมา ยอดขายทั้งปีก็จะใกล้เคียงปีที่แล้ว

ที่สำคัญจากสัญญาณการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินส่วนใหญ่ ทุกบริษัทให้ความสำคัญกับความต้องการนำรถออกไปใช้งานจริงๆและผู้เช่าซื้อต้องมีศักยภาพในการผ่อนชำระด้วย ซึ่งหากพิจารณาจากยอดปฏิเสธสินเชื่อ (Reject) ในปีนี้มีอัตราไม่ต่ำกว่า 40% 

สินเชื่อมอเตอร์ไซค์เข้ม  ยอดปฏิเสธ พุ่งเกิน 40%

สาเหตุมาจากลูกค้ามีประวัติไม่ตรงตามเงื่อนไข บางรายมียอดคงค้างกับสินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อประเภทอื่น ขณะเดียวกันยังพบว่า มีปัญหาจากกลุ่ม FRAUD ที่เป็นแก๊งสูงขึ้น โดยเฉพาะการรับจ้างออกรถมอเตอร์ไซด์ เพื่อส่งออกไปขายชายแดนตามออร์เดอร์ หากเป็น "รถมอเตอร์ไซด์ใหม่" จะส่งไปขายเป็นคันตามออร์เดอร์ แต่ถ้าเป็นมอเตอร์ไซด์เก่า จะขายชิ้นส่วนตามออร์เดอร์ ทำให้มีการเฝ้าระวังมากขึ้น

นอกจากนั้น ปีนี้เป็นปีที่ทุกคนต้องปล่อยสินเชื่อแบบ Responsible Lending ต้องใช้ความพยายามในการจัดการ ทำให้ทุกคนที่ทำธุรกิจเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์ตกอยู่ในจุดเดียวกันคือ เพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อตั้งแต่เริ่มคัดกรองลูกค้าเข้ามาในพอร์ตแล้ว และดูแลคุณภาพลูกค้า หรือคุณภาพหนี้ ไม่สามารถทำตลาดอย่างหวือหวาได้ เพราะภาพรวมลูกค้าค่อนข้างเปราะบาง ทำให้ต้องรอโครงการภาครัฐ หรือมาตรการภาครัฐที่เป็นความหวังในการทำให้เกิดความยั่งยืนลงในแต่ละพื้นที่ 

ดังนั้นโอกาสในการทำกำไร ทุกบริษัทต้องโฟกัสสองเรื่องหลักคือ

  1. ต้องบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้ได้ เพราะตอนนี้ต้นทุนเพิ่มขึ้นสูง ขณะที่รายได้ถูกจำกัดหรือคงที่ 23% ต่อปี ยิ่งใครที่ไประดมทุนหรือออกกองทุน ต้นทุนทางการเงินราว 5-7% ซึ่งเป็นความท้าทาย
  2. ต้องดูแลและบริหารติดตามหนี้ เพราะ Credit Cost ไม่ควรแตะหลักสิบ ซึ่งภาพรวม Credit Cost ของธุรกิจปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์สูงขึ้นเกือบทุกค่ายเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่เกณฑ์ในการตัดหนี้สูญและกันสำรองหนี้สูญแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน

“ในแง่ต้นทุนที่สูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยลบที่รุนแรง ส่วนหนึ่งจากต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนตัวไม่คิดว่า ต้นทุนทางการเงินจะปรับลด แต่ในแง่ของลูกค้ากำลังซื้อน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะยอด Reject สูงถึง 40% สะท้อนว่า ต้องคัดกรองลูกค้ามากขึ้น ซึ่งยอมรับว่า ทุกธุรกิจทุกบริษัทต้องเผชิญต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น และกำลังซื้อก็ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจเหมือนกัน” นางสาวบุปผา กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 43 ฉบับที่ 3,944 วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2566