สินเชื่อเช่าซื้อ พุ่ง 6% แตะ 2.15 แสนล้าน บาท

18 มิ.ย. 2566 | 02:53 น.

สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยคาดสินเชื่อปี 66 ขยายตัว 5-6% ลุ้นมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาล มองปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าปัจจัยบวกในช่วงที่เหลือ จับตาดอกเบี้ยขาขึ้น แนวโน้มเอ็นพีแอลลั่นธปท.กำกับเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมรถเช่าซื้อและผู้บริโภค

ระหว่างรอประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ก่อนจะมีผลบังคับใช้ต่อไป

นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้มีความหวังจากกำลังซื้อภายในประทศ โดยเฉพาะผลเชิงบวกจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและไทยเพิ่มขึ้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐิจจะค่อยๆขยายตัว เพราะยังมีข้อจำกัดด้านเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในระบบทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวของกำลังซื้อและเศรษฐกิจ

นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย

ในส่วนของธุรกิจเช่าซื้อช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ได้รับแรงหนุนที่ดีขึ้นเล็กน้อยจากกำลังซื้องานมอเตอร์เอ็กซ์โปร์ในปลายปีที่แล้ว โดยดึงกลุ่มลูกค้าที่มีความสามารถในการผ่อนชำระเข้ามาได้ แต่เริ่มเห็นสัญญาณลูกค้าไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม เพราะบางส่วนคนยังตกงาน รายได้ยังไม่กลับมา ทำให้ภาพรวมตลาดยังน่าห่วงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)จึงคัดเลือกลูกค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น

“ช่วงครึ่งปีหลัง สัญญาณภาพรวมเศรษฐกิจค่อยๆฟื้น ถ้ารัฐบาลใหม่มาและมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น เพราะมองว่าปัจจัยเสี่ยงยังมีสูงกว่าปัจจัยบวกในช่วงที่เหลือของปีนี้” นายศรัณย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทั้งปีธุรกิจเช่าซื้อน่าจะเติบโต 5-6% ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อจะอยูที่ 2.15 ล้านล้านบาทจากตอนนี้อยู่ที่ 2.04 ล้านล้านบาทบนสมมติฐานยอดขายรถยนต์ทั้งปีอยู่ที่ 8.9-9 แสนคัน โดยบริษัทสมาชิกของสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยปัจจุบันมี 100 บริษัทครอบคลุมปริมาณธุรกิจเช่าซื้อประมาณ 85% ของประเทศ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 800,000 ล้านบาทต่อปี

ส่วนแนวโน้มเอ็นพีแอลยังมีต่อเนื่องในลักษณะขึ้น-ลงเป็นรายเดือน เช่น ช่วงโบนัสออก ซึ่งที่ผ่านมาธปท.มีมาตรการหลากหลายมาช่วยลูกหนี้และหลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ก็ยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายเรื่องอย่างที่บอก ทำให้รายได้ของลูกค้ายังไม่กลับมา ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น ธุรกิจเช่าซื้อยังจับตาอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ซึ่งในส่วนของรถยนต์ใหม่ไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยสูง (Flat rate) อยู่ที่ 2.5-4.8% ต่อปี

ต่อข้อถามถึงภาระกิจปีนี้นายศรัณย์กล่าวว่า หลายโครงการที่สานต่อ เช่น การจดทะเบียนออนไลน์กับกรมการขนส่งทางบก ประกาศ พ.ร.ฎ.ของธปท. เรื่องมาร์เก็ตคอนดักต์ ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับธปท.เพิ่มเติม เข้าใจว่า จะต้องหรือกันอีกหลายรอบกว่ากฎหมายจะมีผลในทางปฎิบัติ

“ผู้ประกอบการเรารับทราบมาก่อนหน้าและต้องเตรียมตัวหลายเรื่องเพื่อรายงานธปท. ดังนั้นการที่ธปท.จะเข้ามากำกับดูแล เราไม่หนักใจมาก เพราะธปท.ยังมีเวลาให้ปรับตัวระหว่างทาง แม้ว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้แล้ว ก็ยังไม่มีบทลงโทษ แต่ปลายทางทุกคนต้องผ่านหลักเกณฑ์ 9 ระบบของมาร์เก็ตคอนดักต์”นายศรัณย์กล่าว

ทั้งนี้เมื่อพ.ร.ฎของธปท.เข้ามากำกับ ผู้ประกอบการเช่าซื้อทุกคนเข้ามาอยู่ในเกณฑ์ภายใต้มาตรการเดียวกันราว 90% องค์รวมจึงเป็นเรื่องที่ดีทั้งต่ออุตสาหกรรมรถ ระบบไฟแนนซ์และตัวผู้บริโภค เนื่องจากธปท.มุ่งสร้างความเป็นธรรมและกระบวนการจัดการให้ลูกหนี้ร้องเรียน เช่น ทางด่วนแก้หนี้และระบบ Case Management System ซึ่งสมาชิกจะลิงค์กับธปท.อยู่แล้ว และเมื่อกฎหมายออกมาก็จะควบคุมทุกไฟแนนซ์ ทั้งนี้ สมาชิกของสมาชิกแต่ละค่ายก็มีนโยบายดูแลลูกค้าหลังการขายอยู่แล้ว

นอกจากนี้ภาระกิจของสมาคมฯ ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมาเป็นสมาชิกสมาคมเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้ข้อมูลอัพเดตแนวทางหรือวิธีปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายแต่ละฉบับ รวมถึงการร่วมกันเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยสินเชื่อที่สะดวก รวดเร็วและทั่วถึง เช่น ระบบสินเชื่อเช่าซื้อออนไลน์เต็มรูปแบบเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,896 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2566