รื้อกฎเช่าซื้อรถ ธปท.คุมกลุ่มนอนแบงก์ ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค

11 มี.ค. 2566 | 00:15 น.

เช่าซื้อรถยนต์-รถจักรยานยนต์มีเฮ หลังครม.ไฟเขียวให้อำนาจธปท.คุมกลุ่มนอนแบงก์ วงในชี้ต้องรื้อค่าธรรมเนียมกว่า 100 รายการ สร้างมาตรฐาน และความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ลุ้นประกาศ แนวปฎิบัติ คาดมีผลบังคับใช้กลางปี 2566

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง.ร.ฎ.กำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 พ.ศ. ... เพื่อให้มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อ และการให้เช่าแบบลิสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์

โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกันหารือเพื่อกำหนดแนวทางให้เกิดความเท่าเทียมในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจต่อไป

 

ด้วยเหตุผลว่า ธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีการให้บริการกับประชาชนในวงกว้าง และมีอัตราการขยายตัวสูงเฉลี่ย 5.6% ต่อปี (ข้อมูลในปี2560-2564) และ

สิ้นปี2564 มีอัตราธุรกรรมคงค้างรวม 1.8 ล้านล้านบาทหรือ 12.4% ของหนี้ครัวเรือนและประมาณ 1 ใน 3 ของธุรกรรมดังกล่าว เป็นธุรกรรมที่เกิดจากการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจ ที่มิใช่สถาบันการเงินและมิใช่บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน(non bank) 

รื้อกฎเช่าซื้อรถ ธปท.คุมกลุ่มนอนแบงก์ ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค

ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลในลักษณะเดียวกับการประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคประเภทอื่น อีกทั้งที่ผ่านมามีจำนวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บริการมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

จึงต้องให้อำนาจธปท.เข้ากำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลิสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่ดำเนินการโดยผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และมิใช่กลุ่มบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน(non-bank) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

 

เป็นผลดีต่อระบบระยะยาว

นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางปฎิบัติภายใต้ พ.ร.ฎฉบับดังกล่าว เข้าใจว่าธปท.จะออกประกาศตามมาในอนาคต สำหรับกรอบเดิมนั้น ธปท.จะกำกับด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม(Market Conduct) 

 

รวมถึงการปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Lending)

อย่างเรื่องการปล่อยกู้ด้วยความรับผิดชอบนั้น กรอบกำกับจะกว้างถึงนโยบายเครดิต การตรวจสอบอย่างไรก็ต้องรอประกาศจากธปท.

 

 เพราะการปล่อยสินเชื่อไม่ใช่เฉพาะจะดูแค่ความเสี่ยงด้านเครดิตแต่ยังมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง (Opportunity Risk) รวมถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ซึ่งหากธปท.กำกับเช่าซื้อกลุ่มนอนแบงก์ก็จะขยายเป้าหมายที่ควบคุมได้กว้างขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อระบบในระยะยาว

 

“ ที่ผ่านมาเรื่อง market conduct ของธปท.ได้มีการดึงนอนแบงก์รายใหญ่เข้ามาบ้างแล้ว เช่น ตรีเพชรลีสซิ่ง หรือโตโยต้าลีสซิ่ง แต่ทำได้แค่สิ่งที่มีปฎิสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรง เช่น ตอนขายต้องมี sale Sheet คือต้องชี้แจงรายละเอียด การเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างโปร่งใส ต้องมีใบรายการแจ้งหนี้ที่สอดรับกับเกณฑ์ของสคบ.แต่เกณฑ์ Market Conduct ทั้ง 9ข้อ ซึ่งธปท.กำกับธุรกิจเช่าซื้อในกลุ่มแบงก์อยู่แล้ว แต่นอนแบงก์ยังไม่ได้เข้ามาอยู่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นธปท.จะมี Authorityในการที่จะเข้าไปเจรจา กับนอนแบงก์ แต่ Authority และรายละเอียดยังไม่ออกมา วันนี้รู้แค่หลักการและแนวทางจะไปทางนี้”

 

ธปท.กำกับใน 2เรื่อง

นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บมจ. ศักดิ์สยามลิสซิ่ง (SAK) กล่าวว่า ถ้าผู้ประกอบธุรกิจที่ยังไม่เคยอยู่ภายใต้กำกับของธปท.มาก่อนจะต้องปรับตัวมากหลายจุด แต่หากเป็นผู้ที่ประกอบธุรกิจและเคยทำงานภายใต้กำกับของธปท. เช่น ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล หรือเป็นส่วนหนึ่งสถาบันการเงินนั้น ทางธปท.จะกำกับใน 2 เรื่องใหญ่คือ ข้อกำหนดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อแต่ละประเภท และเรื่องมาร์เก็ตคอนดักต์ หรือการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม

 

ส่วนร่างพ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว ธปท.ยังไม่มีรายละเอียด แต่อาจจะเข้ามาตรวจสอบเรื่องการให้บริการหรือให้มีการเรื่องรายงานประจำเดือนว่ามีการให้บริการอย่างไร มีความถูกต้องหรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการทั่วไปจะต้องมีบัญชีเดียว เป็นต้น

 

ทบทวนค่าธรรมเนียมใหม่

แหล่งข่าววงในธุรกิจการเงิน กล่าวว่า เมื่อ พ.ร.ฎ.ให้อำนาจธปท.เข้ามากำกับ เข้าใจว่าจะมากำกับเรื่องมาร์เก็ตคอนดักต์ กับเรื่องการปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ ส่วนทางสคบ.จะกำกับเรื่องว่าด้วยสัญญาและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแต่ละบริษัทที่เข้ามาอยู่ภายใต้กำกับของธปท. จะต้องมีการจัดตั้งคณะทำงานมาร์เก็ตคอนดักต์

 

 เช่น กลุ่มธนาคารหรือบริษัทภายใต้กำกับของธปท.ดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว และจะครอบคลุมถึงค่าธรรมเนียมปฎิบัติในการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์กว่า 100 รายการโดยเชื่อว่าจะมีการทบทวนเพื่อให้แต่ละบริษัทใช้ปฎิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน และพ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าวน่าจะบังคับใช้ไม่เกิน 6 เดือนโดยประกาศลงราชกิจจานุเบกษาบวก 90 วัน (ร่างพ.ร.ฎ.ฉบับเดิมกำหนด 180วัน แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนในขั้นตอนของครม.) ซึ่งอาจจะมีผลบังคับใช้ประมาณกลางปีนี้

 

“หลังจาก พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ให้อำนาจธปท.เข้ามากำกับผู้ให้บริการเช่าซื้อกลุ่มนอนแบงก์ต่อไปทุกบริษัทรวมถึงลีสซิ่งของค่ายรถยนต์ หรือค่ายรถจักรยานยนต์ก็ต้องปฎิบัติตามเกณฑ์ 9 ข้อของมาร์เก็ตคอนดักต์ ซึ่งเข้าใจว่าแนวปฎิบัติจะแตกต่างกันตาม Asset Size หรือยอดขายหรือพอร์ตสินเชื่อเช่น ตํ่ากว่า 500 ล้านบาท และพอร์ตขนาดเกินกว่า 500 ล้านบาทเป็นต้น”

 

สำหรับการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market conduct กำหนดเกณฑ์ปฏิบัติใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ผู้ให้บริการยกระดับระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการแก่ลูกค้าทั้งหมด 9 ระบบ ได้แก่1. คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมกำหนดให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรและมีผู้รับผิดชอบชัดเจน

 

2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องเหมาะสมกับลูกค้าความสามารถของพนักงานขายช่องทางการขายระบบงานและการควบคุมมีเงื่อนไขที่เป็นธรรม 3.การจ่ายค่าตอบแทนและมาตรการลงโทษต้องไม่ผลักดันให้เกิดการขายที่ไม่เหมาะสม

 

 4.กระบวนการขายให้ข้อมูลครบถ้วนชัดเจนไม่บิดเบือนและไม่รบกวนลูกค้า

5.การสื่อสารและให้ความรู้พนักงานเกี่ยวกับการให้บริการอย่างเป็นธรรมเป็นไปอย่างทั่วถึง 6. การดูแลข้อมูลลูกค้ามีความปลอดภัยและคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว 

7. การดูแลลูกค้าหลังการขายมีความเป็นธรรม 8.การควบคุมกำกับและตรวจสอบมีความรัดกุม และ 9.ระบบการปฏิบัติงานและแผนฉุกเฉินมีประสิทธิภาพให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

 

รวมทั้ง ผู้ให้บริการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ลูกค้ามีข้อมูลเพียงพอประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือใช้บริการโดยต้องเปิดเผย 

1. ข้อมูลผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะลักษณะเงื่อนไขและข้อจำกัดสำคัญ 

2. ข้อมูลคุณภาพการให้บริการได้แก่ สถิติเรื่องร้องเรียนจำแนกตามประเภทผลิตภัณฑ์และลักษณะของปัญหาและข้อมูลการถูกเปรียบเทียบปรับหรือถูกกล่าวโทษ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ( ประกาศ ธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม Market conduct )

 

หวั่นตลาดมอเตอร์ไซค์

ร่วง3%

ขณะที่ตลาดรถจักยานยนต์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากกฎหมายควบคุมธุรกิจเช่าซื้อรถ ดังนั้นในปี 2566 บริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์รายใหญ่ทั้ง ไทยฮอนด้า และไทยยามาฮ่า มอเตอร์ ต่างมองว่ายอดขายตลาดรวมจะไม่เพิ่มขึ้นไปกว่าปี 2565 ที่ทำได้ 1.8 ล้านคัน

นายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า ตลาดรวมรถจักรยานยนต์ไทยในปี 2566 คาดว่าจะทำได้ 1.75 ล้านคัน ลดลง 3% เมื่อเทียบกับปี 2565 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกยังผันผวน และปัจจัยในประเทศอย่างกฎหมายควบคุมสินเชื่อที่มีผลต่อธุรกิจไฟแนนซ์

นายพงศธร เอื้อมงคลชัย รองประธานกรรมการบริหาร ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ กล่าวว่า ลูกค้ารถจักรยานยนต์ในปัจจุบัน ซื้อรถด้วยเงินสดประมาณ 5-10% นอกนั้นใช้บริการของไฟแนนซ์ ซึ่งแต่ละรายมีความถนัดต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและจากกฎหมายใหม่ทำให้เราต้องปรับตัว และพยายามให้ดีลเลอร์มีไฟแนนซ์ 2-3 รายเป็นทางเลือก

ในปี 2566 คาดว่าตลาดรถจักรยานยนต์จะอยู่ที่ระดับ 1.8 ล้านคัน หรือเท่ากับปี 2565 โดยปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น การขาดแคลนชิ้นส่วน และวัตถุดิบไม่เพียงพอในบางรุ่น รวมถึงกฎหมายควบคุมดอกเบี้ยเช่าซื้อที่มีผลต่อผู้บริโภค