คลังจ่อออกมาตรการแก้หนี้ เล็งดึงเข้าระบบ

29 พ.ย. 2566 | 09:16 น.

หนี้นอกระบบลามกระทบภาคผลิต ทวงหนี้ถึงหน้าโรงงาน ไม่จ่ายถูกทำร้าย คลังจ่ออกมาตรการดึงหนี้เข้าระบบ พร้อมมาตรการเสริมอาชีพ เครดิตบูโร แนะรัฐออกมาตรการเอื้อ “ปรับโครงสร้างหนี้” คาดสิ้นปีทะลุ 1 ล้านล้านบาท

หนี้นอกระบบ ที่่พึ่งยามยากของคนไทย โดยยอมเสียดอกเบี้ยรายวัน หรือรายเดือนในอัตราสูง ต้องถูกทวงหนี้ ทวงดอกเบี้ยรายวัน เสี่ยงถูกข่มขู่ ถูกทำร้ายหากไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ทันเวลาที่กำหนด ซึ่งประเมินว่าหนี้นอกระบบของคนไทย ณ ปัจจุบันจะมีสัดส่วน 20-30% ต่อจีดีพี หรือ 3.4-5.2 ล้านล้านบาท ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่กดทับกำลังซื้อและเศรษฐกิจไทย

  • “หนี้นอกระบบ”วาระแห่งชาติ

ล่าสุด (28 พ.ย. 2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศให้ “การแก้ปัญหานี้นอกระบบ” เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยระบุว่ารัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องหนี้นอกระบบ เพราะลูกหนี้ใช้หนี้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด ปิดโอกาสต่อยอดในชีวิต กระทบกับทุกส่วน เป็นการค้าที่พรากอิสระและความฝันไปจากผู้คน

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ดังนั้นจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ และกระทรวงการคลังเริ่มจากกระบวนการไกล่เกลี่ยที่ภาครัฐเป็นตัวกลางระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ ให้เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสหาเงินมาปิดหนี้ให้ได้ ไม่ให้กลับเข้าสู่วงจรอีก

ทั้งนี้จะมีการทำฐานข้อมูลกลาง แทรคกิ้งไอดีติดตามผลได้ ประชาชนสามารถเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบตามความสะดวก และมีการถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน โดยทั้งตำรวจ และเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยจะมี KPI และกรอบเวลาร่วมกันในการทำงาน หลังจากนั้นจะมีการปรับโครงสร้างหนี้โดยกระทรวงการคลัง ปรับระยะเวลาเงื่อนไข ให้ลูกหนี้ใช้หนี้ได้

มาตรการแก้หนี้นอกระบบ

 “โครงการนี้ไม่ใช่ยาปาฏิหารย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบหมดไปแต่หากเศรษฐกิจดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต และสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น จะทำให้โครงการนี้ปลดปล่อยประชาชนจากการเป็นทาสหนี้ ซึ่งวันที่ 12 ธ.ค.นี้ รัฐบาลจะแถลงภาพรวมหนี้ทั้งในและนอกระบบอีกครั้ง”นายเศรษฐาระบุ

  • ดึง“ออมสิน-ธ.ก.ส.”ปล่อยกู้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า มาตรการหลังจากลูกหนี้-เจ้าหนี้นอกระบบเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว จะมีธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ต่อรายไม่เกิน 5 หมื่นบาท ผ่อนนาน 5 ปี และสินเชื่อเพื่ออาชีพอิสระเพื่อรายย่อย ไม่เกินรายละ 1 แสนบาท ผ่อนไม่เกิน 8 ปีและธ.ก.ส.ยังให้ลูกหนี้ที่นำที่ดินไปขายฝาก ติดจำนอง ก็มีวงเงินเพื่อเกษตรกร ต่อราย 2.5 ล้านบาท เพื่อแก้ไขที่ดินทำกิน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า มาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบล่าสุดของรัฐบาล จะเป็นการต่อยอดให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในเชิงรุกได้มากขึ้น ผ่าน “ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ถูกข่มขู่คุกคาม หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้ เป็นต้นไป ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทั่วประเทศ ส่วนกรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนัก งานเขตทุกแห่ง เพื่อที่กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนเป็นรายๆ ไป

ส่วนมาตรการการบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งมีพฤติกรรมข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น ทางฝ่ายปกครองจะประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

  • ลามกระทบภาคการผลิต

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ลามกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอย่างชัดเจน โดยมีสมาชิกของส.อ.ท.หลายโรงงานในหลายจังหวัดร้องเรียนมาว่า ในเวลาพักเที่ยงหรือทุกเย็นหลังเลิกงานของทุกวันจะมีกลุ่มชายฉกรรจ์มาเฝ้าถึงหน้าประตูโรงงานเพื่อทวงหนี้คนงานที่เป็นหนี้ ให้จ่ายหนี้ หรือดอกเบี้ยสูงรายวัน หากรายใดไม่จ่ายก็จะถูกทำร้ายทุบตีต่อหน้าคนอื่น เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง หรือทำให้เกิดความเกรงกลัว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

เหตุการณ์เช่นนี้กระทบลูกจ้างหรือคนงาน รวมถึงนายจ้างและกัดกร่อนเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม โดยในส่วนของคนงานคือ เงินรายได้จากการทำงานแทนที่จะนำไปจับจ่ายใช้สอยก็ต้องนำมาจ่ายหนี้นอกระบบ ซึ่งในรายที่จ่ายไม่ไหวหรือทนถูกทำร้ายไม่ไหวก็หนีไม่มาทำงาน ติดต่อไม่ได้ หรือลาออกอย่างฉับพลันไปโดยปริยาย กระทบไลน์ผลิตของโรงงานหลายแห่งขาดคนงาน และกระทบภาคการผลิตโดยรวมของประเทศ

“ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนจากโรงงานต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในแถบกรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ และอีกหลายจังหวัด ซึ่งภาคการผลิตดีใจที่นายกรัฐมนตรีได้ตอบรับและประกาศแผนการแก้ปัญหาหนี้ระบบ ซึ่งก็หวังว่าจะได้ผล” นายเกรียงไกรกล่าว

  • ระวัง“ลิงค์-แอปฯ”เงินกู้เถื่อน

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (สกมช.)กล่าวว่า การหลอกให้ลงทุนหรือการหลอกให้คลิกลิงค์ เพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว หรือการคลิก “ลิงค์เงินกู้” และแอปพลิเคชั่นกู้เงินไม่ถูกกฎหมายจากมิจฉาชีพ กำลังแพร่ระบาดในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก สกมช. จึงมีหน้าที่ควบคุมและป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของ มิจฉาชีพ ที่แอบแฝงตัวมาในรูปแบบต่างๆ

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

สำหรับการรับมือจากภัยไซเบอร์ ที่เป็นลิงค์เงินกู้ เพื่อให้คลิก สำหรับการกู้ยืมเงินหรือการคลิกเพื่อเข้าถึงการดาวน์โหลดแอปฯ บางประเภทโดยที่เจ้าของไม่รู้ตัว รวมไปถึงลิงค์เงินกู้ ที่หากเผลอกดเข้าไปแล้วมิจฉาชีพจะสามารถเข้าไปในบัญชีรายชื่อในของโทรศัพท์ จากนั้นมิจฉาชีพจะทำการเก็บข้อมูล หากผู้กู้ยืมเงินผิดการชำระจะมีการไล่โทรไปตามคอนแทร็กลิสต์และแจ้งยังปลายสายว่า เป็นผู้คํ้าประกันเพื่อหวังจะได้เงินคืน จึงเป็นที่มาให้หลายครั้งโดนหลอกเอาเงินไปเพราะเกรงว่าจะเสียเครดิต หรือถูกข่มขู่ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกู้เงิน

  • จ่อออกมาตรการดึงเข้าระบบ

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการสินเชื่อเพื่อรองรับลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เพื่อให้โอกาสประชาชนได้เข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งจะต้องปรับหลักเกณฑ์ เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบ สามารถเข้าสู่ระบบได้

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้นอกจากจะปล่อยสินเชื่อให้แล้ว หน่วยงานของรัฐ จะมีมาตรการเสริมคือการส่งเสริมอาชีพ เพื่อสร้างรายได้นำมาผ่อนชำระได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน และเป็นการเอาจริงเอาจังการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอีกครั้ง

"กระทรวงการคลังจะรับไม้ต่อ หลังจากที่นายอำเภอและผู้กำกับการฯ ลงพื้นที่สำรวจหรือเอ็กซเรย์พื้นที่ ได้รายชื่อเจ้าหนี้และลูกหนี้นอกระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกัน แล้วลูกหนี้ต้องการเข้าสู่ระบบ  กระทรวงการคลัง จะมีมาตรการสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาช่วยเหลือพร้อมกับการปรับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ด้วย เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินของรัฐ การที่คนไปเป็นหนี้นอกระบบ เพราะกู้เงินในระบบไม่ได้ ดังนั้นรัฐ ก็ต้องมาพิจารณาปรับเกณฑ์ เพื่อให้ผ่อนชำระค่างวดได้"

  • คาดปรับโครงสร้างแตะ 1ล้านล้าน

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร)กล่าวว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.7%ของจีดีพี ซึ่งในจำนวนนี้มีมูลหนี้กว่า 13.54 ล้านล้านบาทที่อยู่บนฐานข้อมูลของเครดิตบูโร เพิ่มขึ้น 3.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่เหลืออีก 2.5 ล้านล้านบาทนั้น ประมาณ 2 ล้านล้านบาทอยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ ในจำนวนนี้เฉพาะหนี้ครู 8 แสนล้านบาทและอยู่ในสถาบันการเงินอื่นอีกราว 6แสนล้านบาทและกว่า 4 แสนล้านบาทเป็นหนี้กองทุนกู็ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร)

เมื่อพิจารณาจากลูกหนี้ที่อยู่ในระบบของเครดิตบูโรมูลหนี้ 13.54 ล้านล้านบาทนั้น เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) 1.047 ล้านล้านบาท ลดลง 4.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 1.09 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้จากบัตรเครดิต 5.8 หมื่นล้านบาทลดลง 9.6% สินเชื่อส่วนบุคคล  2.61 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 0.8%  สินเชื่อรถยนต์ 2.07 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 20.9% สินเชื่อบ้าน 1.81 แสนล้านบาท ลดลง 1.7% หนี้อื่นๆประมาณ 2.05 แสนล้านบาทลดลง  5.8% หนี้เกษตรกร 6.7 แสนล้านบาทลดลง 43.2% และหนี้นิติบุคคลหรือ Commercial Loan อีก 6.6 แสนล้านบาท ลดลง 11.8% 

นอกจากนั้นยังหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน(SM) อีก 4.92 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 21.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยในจำนวนนี้ 9.3 หมื่นล้านบาทหรือ 68%อยู่ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(SFIs)  ดังนั้นการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันเพื่อไม่ให้บัญชีสินเชื่อของลูกหนี้ตกชั้นไหลจาก SM ไป NPLs จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก  โดยอัตราการไหลจาก SM เป็น NPLs และอัตราการไหลกลับจาก SM กลับไปเป็นหนี้ปกติ (Migration rate) ที่ผ่านมาธปท.ระบุว่า  Migration rate จากหนี้บ้านอยู่ที่ 22% หนี้รถยนต์อยู่ที่ 12% หนี้ส่วนบุคคล 54% และหนี้บัตรเครดิต 57% 

“ต้องจับตา Migration rate ซึ่งหากรวมหนี้เสีย NPLs กับ SM จะมีสัดส่วน 11.4% หรือ 1.54 ล้านล้านบาท ซึ่งเราเป็นห่วงลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ 9.9 แสนล้านบาท ซึ่งแนวโน้มเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ที่เน้นลูกหนี้ที่มีศักยภาพ ทำให้ความยืดหยุ่นน้อยลง  เพราะเจ้าหนี้จะต้องให้น้ำหนักกับกระแสเงินสดหรือ Cash flow เป็นสำคัญ จึงคาดว่า ไตรมาส4 หนี้ปรับโครงสร้างน่าจะแตะ 1ล้านล้านบาท”นายสุรพลกล่าว

  • ห่วงหนี้รถยนต์แก้ยาก

นอกจากนั้น หนี้รถยนต์ยังมีปัญหาอยู่ที่อายุรถยนต์ 4 ปี ทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ทำได้น้อย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะทิ้ง และเป็นความเสี่ยงของเจ้าหนี้ด้วย หัวใจสำคัญจึงอยู๋ที่การปรับโครงสร้างหนี้รถยนต์จะทำได้มากน้อยเพียงใด  เพราะเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท และ SM อีก 2แสนล้านบาท แต่การปรับโครงสร้างหนี้รถยนต์จะติดปัญหาเรื่องโครงสร้าง ซึ่งสินเชื่อรถยนต์แก้ไขหนี้ยาก เพราะการยืดอายุก็ติดเรื่องอายุของรถ จึงเป็นความเสี่ยงเจ้าหน้า ส่วนสินเชื่อบ้านยังสามารถยืดหนี้ได้    

ในส่วนของบัตรเครดิตนั้น ถ้าเปลี่ยนเกณฑ์การผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 5%  เป็น 8% ในปีหน้า โอกาสจะเห็น Migration rate ตั้งแต่ไตรมาส4 ปีนี้แล้ว  ขณะมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ “มาตรการฟ้า-ส้ม”จะครบกำหนดภายในสิ้นปีนี้ ดังนั้น กติกาหรือเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะกลับสู่ปกติ สถาบันการเงินต้องเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567

ส่วนกรณีลูกหนี้ใหม่และลูกหนี้ที่อยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ต้องเป็นลูกหนี้ที่มีคุณภาพคือ ต้องมั่นใจว่า มีกระแสเงินสด (Cashflow) สะท้อนศักยภาพในการผ่อนชำระและก่อนการปรับโครงสร้างหนี้ต้องพิสูจน์ Cashflow หรือต้องมั่นใจว่า ลูกหนี้มีกระแสเงินสดที่ชัดเจน เพราะหากไม่เป็นไปตามกติกาสถาบันการเงินเจ้าหนี้โอกาสที่จะต้องกันสำรองหนี้ในอนาคต

นายสุรพลกล่าวถึงกลุ่มลูกหนี้ที่กลายเป็นหนี้เสียจากผลกระทบช่วงโควิด-19 หรือลูกหนี้รหัส 21 ว่า มีลูกหนี้ทั้งหมด 3.5 ล้านคน จาก 5.1ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3.7 แสนล้านบาท ณ เดือนมิ.ย. 2566  ซึ่งมูลหนี้ 3.9 แสนล้านบาทนั้น อยู่ใน SFIs 2 แสนล้านบาท 2.93 ล้านบัญชี, ธนาคารพาณิชย์ราว 1.1 แสนล้านบาท 5 แสนบัญชี โดยลูกหนี้ที่อยู่กับSFIs มีทางออกอยู่แล้ว แต่โจทย์สำคัญของธนาคารพาณิชย์จะหาทางออกในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างไร

“เรายังไม่สบายใจลูกหนี้ Commercial ที่เอ็นพีแอลประมาณ 9.7% ปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันเหลือ 6.6 แสนล้านบาท  โดยเฉพาะ SMEรายจิ๋ว  รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี  มูลหนี้ประมาณ 6.6 แสนล้านบาท อยู่กับธนาคารพาณิชย์ 5.2 หมื่นล้านบาท และ SFIs 1.36 หมื่นล้านบาท  และยังเป็นหนี้ SM 2.45 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่กับธนาคารพาณิชย์ 1.87 หมื่นล้านบาท ที่เหลืออยู่กับ SFIs ราว 5.6 หมื่นล้านบาท โดยมีรหัส 21 ประมาณ 3.49 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มนี้เป็นโครงการคู่กับเกษตรกร เป็นกลุ่มที่ทำมาค้าขาย อาจจะมีโปรแกรมอะไรเข้าไปช่วย”นายสุรพลกล่าว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสิ้นปีนี้เอ็นพีแอลไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้าน หนี้ปรับโครงสร้างหนี้ทะลุ 1 ล้านล้านบาท และSM น่าจะอยู่ที่ 5-6 แสนล้านบาท  ซึ่งภายใต้มาตรการเดิมเครดิตบูโรประเมินเอ็นพีแอลอาจเติบโตได้ 1.2 ล้านล้านบาทหรืออาจจะปรับลดลงมาแตะ 9 แสนล้านบาท

ในส่วนของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้นั้น หากต้องการให้ตัวเลขปรับลดลงได้มากกว่าที่เป็นอยู่ จำเป็นต้องมีแนวทางหรือมาตรการที่เอื้อเพื่อทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ดีขึ้น ที่สำคัญ การแก้ไขหนี้เชิงป้องกันจะทำอย่างไร  SM อย่าให้ไหลเป็น NPLs ลูกหนี้รหัส 21 อีก 3.5 ล้านรายจะปรับโครงสร้างหนี้ได้ง่ายอย่างไร