BAM ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง SMEs แห่ใช้บ้าน ค้ำประกันเงินกู้

08 ก.ย. 2566 | 08:18 น.

BAM แนะ ปลุกวินัยแก้หนี้ครัวเรือน ลั่นพร้อมดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ ห่วงเอสเอ็มอีหลายรายใช้บ้านอยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ลุ้นต้นทุนทางการเงิน รับเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรัฐบาลประกาศนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสู่ความยั่งยืนภายใน 5ปี ซึ่งบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือ “เอเอ็มซี” นับเป็นหนึ่งสถาบันการเงินที่รับบทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงิน โดยรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมถึงหลักประกันของสินทรัพย์บริหารและขายออก

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “นายบัณฑิต อนันตมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ BAM  ถึงมุมมองการมีส่วนร่วมของ BAM ในการแก้หนี้ครัวเรือน และสะท้อนแนวทางดำเนินงานของ BAM

BAM ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง SMEs แห่ใช้บ้าน ค้ำประกันเงินกู้

นายบัณฑิตกล่าวถึงแนวทางสำคัญของการลดหนี้ครัวเรือนว่า ต้องเริ่มจาก “วินัย” คือ ถ้าทุกคนมีวินัย มีความรู้ความเข้าใจทางการเงินที่สำคัญคือ ทำให้คนรู้จักเก็บออมหรืออาจจะลงทุนต่อยอดให้เกิดดอกผลงอกเงย อย่างเช่น เดิมทีมีการกำหนดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (DSR) ไม่เกิน 35% ของรายรับต่อเดือน ซึ่งสถาบันการเงินจะอนุมัติเงินกู้หรือสินเชื่อ 30-35%ต่อเดือน โดยให้มีวงเงินเหลือเพื่อดำรงชีวิตและเก็บออมอย่างน้อย 15% ต่อเดือน

“หากมีวินัยทำได้ตามนี้ถือว่า “เกษียณสุข” นอกจากนี้ยังเผื่อกรณีฉุกเฉินด้วย แต่ยอมรับว่า ปัจจุบันส่วนหนึ่งของหนี้ครัวเรือนมาจากการใช้จ่ายเพื่อเพิ่มสถานะตัวเองรวมถึงเงินกู้ที่สนองความต้องการของตัวเอง” นายบัณฑิต กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวห่วงลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ใช้บ้านที่อยู่อาศัยมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมาก เพื่อนำเงินกู้มาประกอบกิจการ แต่มูลหนี้หลัก 10 ล้านบาท สัดส่วนจำนวนรายเกิน 60-70% ซึ่ง BAM จะดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ BAM อยู่ระหว่างปรับแผนธุรกิจ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต 3-5ปีข้างหน้าคาดว่า จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างของแผนธุรกิจประมาณปลายตุลาคมปีนี้ จากนั้นจึงมาดูว่า แผนที่จะจัดทำออกมานั้น จะทำอะไรได้ตามแผนหรือถ้าติดขัดกฎหมายก็ต้องหารือกับธปท. และกระทรวงการคลังพิจารณากฎระเบียบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องบริบทใหม่ในอนาคตข้างหน้า และกฎระเบียบใหม่ที่จะออกมาจะต้องเอื้อต่อทั้งอุตสาหกรรมเอเอ็มซี ทั้งระบบโดยที่ผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน

สำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่า สถาบันการเงินจะนำหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ออกประมูลขายประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท (รวมเงินต้นและยอดค้างรับ) จากครึ่งปีแรกที่มีการนำภาระหนี้เอ็นพีแอล ประมูลขายแล้ว 7.3 หมื่นล้านบาทและยกเลิกการขาย 1,900 ล้านบาท ซึ่งปีที่แล้วมียกเลิกการขาย 20,000 ล้านบาท จากภาระหนี้ที่นำออกประมูลขาย 7-8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาไม่สอดคล้องกับสถาบันการเงินได้ประเมินไว้

ในส่วนของ BAM ขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะเอ็นพีแอล(Due Diligence) ภาระหนี้ 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งสถาบันการเงินยังไม่ส่งคำตอบกลับมา ระหว่างนี้น่าจะมีสถาบันการเงินทยอยเปิดให้เข้าประมูลเอ็นพีแอลอีก BAM น่าจะรับซื้อเข้ามาไม่น้อยกว่า 4-5 พันล้านบาท โดยทั้งปีนี้คาดว่า จะสามารถประมูลซื้อหนี้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้กว่า 9,000 ล้านบาท

“ปีนี้แบงก์เจ้าหนี้ขายเอ็นพีแอลมากขึ้น การแข่งขันไม่รุนแรงเท่าปีก่อน ทำให้การดึงกลับหรือยกเลิกการขายน้อยลง ถ้าเทียบกับปี 2564 ที่แข่งขันดุเดือดมาก แต่ลดลงในช่วงท้ายปี 2565 เพราะผู้ประมูลซื้อไม่สู้ราคา ทางแบงก์จึงดึงทรัพย์กลับ ส่วนหนึ่งเพราะต้นทุนในการซื้อทรัพย์แพงขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ประกอบกับต้องใช้เวลาคืนทุนนานกว่า 7 ปี จากวิกฤติโควิด ทำให้ช่วงเวลาคืนทุนนานขึ้น”

ดังนั้นแนวทางของ BAM จึงเน้นปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอยู่ ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์และธปท. ต้องการให้ช่วยดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ซึ่งคณะกรรมการของ BAM หรือทีมเรียกเก็บหนี้และบริษัทภายนอก (OA) ต่างมีความเข้าใจที่ตรงกัน ฉะนั้นยอดประนอมหนี้ยังคงมีต่อเนื่อง

ฐานะการเงินของ BAM

สำหรับรูปแบบปรับโครงสร้างหนี้ขึ้นกับศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ หากลูกหนี้ยังพอมีกำลัง มีรายได้และมีวินัยอาจจะลดวงเงินผ่อนให้เหมาะตามกำลังของแต่ละราย เช่น ลดยอดการผ่อนให้เหลือ 3,500 บาทต่อเดือน โดยยืดเวลาเป็นปีครึ่ง (จากเดิมเคยจ่ายที่ 5,000 บาท) จากนั้นค่อยมาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้อีกครั้ง

ขณะเดียวกัน BAM ทยอยขายสินทรัพย์รอการขาย (NPA) ซึ่งไตรมาส 3-4 ของทุกปีจะสามารถทำยอดขายได้ดี โดยปีนี้ตั้งเป้าขาย NPA กว่า 7,000 ล้านบาท จากสินทรัพย์รวมของ BAM  1.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็น NPA 35,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 1.45 แสนล้านบาทเป็น NPLs โดยปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณคนซื้อที่ดินแปลงใหญ่และคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น สะท้อนสัญญาณการขยายธุรกิจในบางภาคส่วน

ต่อข้อถามถึงความเพียงพอของเงินทุนนั้น นายบัณฑิตกล่าวว่า BAM ไม่มีปัญหาเงินทุน เพราะมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ในระดับต่ำที่ 2.0 เท่า เพราะได้ออกหุ้นกู้ค้างมา 2 ปีที่ 25,000 ล้านบาท ดังนั้นอาจมีแผนออกหุ้นกู้ 2.5-3 พันล้านบาท ในอีกสองเดือนข้างหน้า แต่หากทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ก็ไม่จำเป็นต้องออกหุ้นกู้ สามารถเลือกให้สินเชื่อกับสถาบันการเงินได้อีกช่องทางหนึ่ง

 

หน้า 13  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,920 วันที่ 7 - 9 กันยายน  พ.ศ. 2566