ธอส.เร่งปล่อยสินเชื่อสีเขียว ชูดอกเบี้ยต่ำ สร้างความยั่งยืน

12 มิ.ย. 2566 | 04:01 น.

ธอส.วางเป้าปี 66 ระดมทุนกรีนบอนด์ 1.5 หมื่นล้านบาท มุ่งเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืนภายในปี 70 เร่งปล่อยสินเชื่อสีเขียว ชูดอกเบี้ยต่ำ เพิ่มแรงจูงใจผู้ประกอบการให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อม

นายพชร อนันตศิลป์ ประธานคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ในปี 2566-2570 ธอส.ได้เดินหน้าสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน the best housing & Sustainable bank จะให้น้ำหนักไปยังการปล่อยสินเชื่อเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่วนการระดมเงินฝากก็จะเป็นในทิศทางเดียวกัน และในปีนี้ มีแผนระดมทุนผ่านพันธบัตรดังกล่าว 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ปลูกสร้างหรือซื้อบ้านประหยัดพลังงานและรักษ์สิ่งแวดล้อม

“ในส่วนการปล่อยสินเชื่อที่จะสอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว เราจะเน้นปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เช่น สินเชื่อโซล่าเซลล์ สินเชื่อเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งเราจะจูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น”

 

โดยในปี 2566 ธอส.มีสินเชื่อเพื่อรองรับความยั่งยืนหรือเพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่ 2 โครงการ คือ

  • โครงการสินเชื่อบ้านอยู่เย็นเป็นสุข สำหรับซื้อหรือปลูกสร้างบ้านที่มีระบบพลังงานทดแทน อัตราดอกเบี้ยปีที่หนึ่งเพียง 2.65% กรอบวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท
  • โครงการสินเชื่อเพื่ออาคารคาร์บอนต่ำ สำหรับผู้ประกอบการในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานที่ใช้วัสดุก่อสร้างที่ใช้เครื่องหมายรับรองฉลากลดโลกร้อน หรือ เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อัตราดอกเบี้ยปีที่หนึ่งถึงสองเท่ากับ MLR-3.76% หรือ เท่ากับ 2.74% ต่อปี กรอบวงเงินรวม 1 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธนาคารเริ่มทำการระดมเงินทุนแก่นักลงทุน โดยออก Sustainability bond ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน เพื่อระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาและส่งเสริมความยั่งยืน โดยมีทั้งองค์ประกอบทั้ง Green bond และ Social bond ซึ่ง Green bond หรือตราสารหนี้สีเขียว

โดยจะระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานทางเลือก การบำบัดน้ำเสีย การคมนาคมสะอาด ส่วน Social bond หรือ ตราสารหนี้เพื่อสังคม ระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เช่น การให้บริการสาธารณสุข ส่งเสริมการศึกษา จัดหาอาชีพ การสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

“เราได้ให้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มาเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิคในการระดมเงินทุนและปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนดังกล่าว เพราะการระดมทุนในลักษณะดังกล่าวนั้น จะต้องมีการรายงานผลของการนำเงินที่ระดมไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องต่อนักลงทุน รวมถึงการรายงานผลการดำเนินงานต่างๆ ให้ทางสำนักงานคณะกรรการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รับทราบด้วย”