ตลาดคาดเฟด-อีซีบี ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน พ.ค. 66

30 เม.ย. 2566 | 21:35 น.

ตลาดคาด เฟด-อีซีบี ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ในช่วงต้นเดือน พ.ค. 66 พร้อมจับตาอัตราเงินเฟ้อในไทย หากไม่ชะลอลงชัดเจน อาจทำให้ กนง. เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 2%

ปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คงหนีไม่ผลเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของทั้ง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ในช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ในการประชุมของทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. 66  คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5-5.25%

โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายของวัฎจักร รวมทั้งตลาดจะให้ความสนใจกับการสื่อสารและสัญญาณจากเฟด เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยต่อไป

นอกจากนี้ในฝั่งธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ในวันที่ 4 พ.ค.นี้ สำหรับตลาดการเงินในประเทศเปิดทำการเพียง 2 วัน คาดธุรกรรมเบาบาง และรอผลประชุมธนาคารกลางและตัวเลขต่างๆ ซึ่งจะออกมาช่วงคาบเกี่ยววันหยุดทำให้มองว่าค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ จะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.90-34.70 บาทต่อดอลลาร์

ด้านนายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผู้เล่นในตลาดยังรอติดตามว่า หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาดสู่ระดับ 5.25% ในการประชุมครั้งนี้ เฟดจะส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่

หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณดังกล่าว เฟดจะส่งสัญญาณพร้อมคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25% ได้นานกว่าที่ตลาดคาดการณ์หรือไม่นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต และภาคการบริการ รวมถึงยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง

ขณะที่ฝั่งยุโรปตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) รวมถึงรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน โดยควรระวังความผันผวนในตลาดช่วงที่ทยอยรับรู้ผลการประชุม อีซีบี

เพราะหาก อีซีบี ส่งสัญญาณชัดเจน พร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อาจหนุนให้เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปก็อาจย่อตัวลง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ ยุโรป

ทางด้านเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการส่วนไทยผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนเมษายน

ซึ่งอาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ โดยเฉพาะหากอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอลงชัดเจน อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน  (กนง.) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้สู่ระดับ 2% ในการประชุมเดือนพ.ค.นี้ รวมถึงติดตามรายงานผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน