กสิกรไทยคาด กำไรแบงก์ไตรมาส 1/66 ทะลุ 5.45 หมื่นล้าน

11 เม.ย. 2566 | 12:17 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด กำไรแบงก์ไตรมาส 1/66 ทะลุ 5.45 หมื่นล้านบาท ROA ขยับขึ้นไปที่กรอบ 1.00-1.05% สะท้อนการฟื้นตัวแบงก์ยังระมัดระวัง มองNIM มีโอกาสขยับขึ้นไปอยู่สูงกว่าระดับ 3.20% ในไตรมาส 2/2566

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กำไรสุทธิของระบบแบงก์ไทยในไตรมาส 1/2566 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 5.45-5.70 หมื่นล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) อาจขยับขึ้นไปที่กรอบ 1.00-1.05% สูงขึ้นเมื่อเทียบกับระดับ ROA ที่ 0.89% ในไตรมาส 4/2565 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ ROA ที่ประมาณ 1.20% ในช่วง 5 ปีก่อนวิกฤตโควิด-19

กสิกรไทยคาด กำไรแบงก์ไตรมาส 1/66  ทะลุ 5.45 หมื่นล้าน

สะท้อนว่า ภาพรวมของธุรกิจแบงก์ในช่วงต้นปี 2566 ยังเป็นการฟื้นตัวแบบระมัดระวัง เพราะแม้รายได้จากธุรกิจหลักจะทยอยมีภาพที่ดีขึ้น ทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ

  • รายได้ดอกเบี้ยมีแรงหนุนจากการขยับสูงขึ้นของอ้ตราผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อสอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
  • รายได้ค่าธรรมเนียม บางส่วน อาทิ ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตและบริการรับชำระค่าสินค้าและบริการทยอยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงฟื้นตัวบนความเสี่ยงหลายด้าน อาจทำให้สถาบันการเงินยังคงต้องตั้งสำรองฯ อย่างรอบคอบและระมัดระวัง ดังนั้น แม้ระดับสำรองฯ อาจทยอยปรับลงมาได้บ้างจากที่สำรองฯ ก้อนใหญ่ไปแล้วในช่วงปลายปี 2565 แต่ก็จะไม่ปรับลดลงเร็วนัก และสถาบันการเงินยังคงต้องดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง และ/หรือกลุ่มที่ทยอยออกจากมาตรการช่วยเหลือ ควบคู่กับการเร่งจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้า คงต้องติดตามแนวทางการเข้ามาดูแลโครงสร้างค่าธรรมเนียมของทางการเพื่อดูแลและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากและทำให้แบงก์คงต้องเตรียมปรับตัว เพื่อรับมือกับแนวโน้มที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการอาจมีกรอบการเติบโตที่ค่อนข้างจำกัดในอนาคต

ขณะที่ ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 1/2566 จะส่งผลหนุนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ให้ขยับสูงขึ้นไปอยู่ที่กรอบ 3.05-3.17% จากระดับประมาณ 3.03% ในไตรมาส 4/2565 เนื่องจากประเมินว่า สินเชื่อคงค้างประมาณ 67.5% ของพอร์ตสินเชื่อระบบแบงก์ไทยจะเข้าสู่ช่วงการปรับดอกเบี้ยในระหว่างไตรมาสที่ 1/2566

กสิกรไทยคาด กำไรแบงก์ไตรมาส 1/66  ทะลุ 5.45 หมื่นล้าน

ส่วนฝั่งของเงินฝากในช่วงไตรมาส 1/2566 ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์(CASA) ซึ่งมีสัดส่วนราว 73.0% ของพอร์ตเงินฝากรวมในระบบแบงก์ไทย  โดยมีการปรับขึ้นเฉพาะในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนขึ้นไปและเงินฝากแคมเปญพิเศษเท่านั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินว่า NIM ยังมี 3 โอกาสขยับขึ้นไปอยู่สูงกว่าระดับ 3.20% ในไตรมาส 2/2566 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังคงมีแนวโน้มขยับขึ้นต่อตามรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยของกนง. 29 มี.ค. 2566 (ซึ่งล่าสุด ณ 10 เม.ย. 2566 มี แบงก์ไทยเพียง 2 แห่งที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว) และน่าจะมีรอบการปรับดอกเบี้ยแบงก์อีกครั้งหลัง รอบการประชุม กนง. 31 พ.ค. 2566

อย่างไรก็ตาม แม้รายได้จากธุรกิจหลักจะทยอยมีสัญญาณฟื้นตัว แต่แบงก์ยังคงต้องเฝ้าระวังปัญหาการไถลลงของคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องอาจเพิ่มแรงกดดันต่อลูกหนี้บางกลุ่ม อาทิ ลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กรวมไปถึงลูกหนี้ที่เพิ่งออกจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน

ดังนั้น แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยจะเริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้น แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สัดส่วน NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์(รวมแบงก์ไทย 17 แห่งและสาขาธนาคารต่างชาติ 11 แห่ง)จะยังคงทรงตัวอยู่ที่กรอบ 2.70-2.75% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/2566 ใกล้เคียงกับ 2.73% ในไตรมาส 4/2565

ขณะที่กรอบการเติบโตของสินเชื่อระบบแบงก์ไทยอาจชะลอลงมาที่ 1.9-2.3%YoY ในไตรมาส 1/2566 (ค่ากลาง 2.0% YoY) จาก 2.7% YoY ใน 2 ไตรมาส 4/2565