5วัน สงกรานต์ 2566  (13-17 เม.ย.) ศูนย์วิจัยกสิกร ฟังธง เงินสะพัด 2.3 หมื่นล้าน

09 เม.ย. 2566 | 07:07 น.

5วัน สงกรานต์ 2566  (13-17 เม.ย.) เงินสะพัด 2.3 หมื่นล้าน ศูนย์วิจัยกสิกร ฟันธง ! หนุนเศรษฐกิจประเทศหมุนเวียน เพิ่มขึ้น 26.3%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ช่วงเทศกาล สงกรานต์ประจำปี2566 ( 13 -17 เมษายน )  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด หมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า2.3 หมื่นล้านบาท  เพิ่มขึ้น 26.3%  จากช่วงเดียวกันของที่ผ่านมา และสูงที่สุดในรอบ3ปีที่เกิดสถานการณ์โควิด

 ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับการทำงานเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 มั่นใจว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จะมีตัวเลขการใช้จ่ายเข้าในระบบเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี ขอให้ประชาชนไทยเตรียมพร้อมต่อการเดินทางท่องเที่ยว ระมัดระวังเพื่อความปลอดภัย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า   ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 วันระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน 2566 ปีนี้ หลายหน่วยงานได้เตรียมความพร้อมการจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์อย่างเต็มรูปแบบ จากผลสำรวจศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า

กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ 44.7% มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ (เพื่อพักผ่อน และเดินทางกลับภูมิลำเนา) ทั้งนี้ น่าจะมีจำนวนประชาชน 5.1 ล้านคน/ครั้ง ถือว่าเพิ่มขึ้น 28.9% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยเกือบทั้งหมดมีแผนท่องเที่ยวในประเทศ โดยประเมินว่าการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 นี้น่าจะมีมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 26.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สอดคล้องกับ ท่าอากาศยานไทยคาดการณ์สงกรานปีนี้มีผู้โดยสารเดินทางกว่า 2.37 ล้านคน เพิ่มขึ้น 137.48% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยแบ่งเป็นผู้โยสารระหว่างประเทศ 1.37 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้นมากถึง 561.76% และผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 1 ล้านคน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 26.08% จึงขอให้ประชาชนวางแผนการเดินทางให้เหมาะสม เพราะอาจมีการจราจรติดขัดจากปริมาณผู้โดยสารที่หนาแน่น โดยเผื่อเวลามายังสนามบิน 2-3 ชั่วโมง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชน ขอให้เตรียมการก่อนการเดินทางท่องเที่ยวด้วยความระมัดระวัง ทั้งอากาศที่ค่อนข้างร้อนในช่วงเดือนเมษายน ตรวจสภาพรถก่อนออกเดินทาง และการขับขี่อย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ แม้ความกังวลต่อโรคโควิด-19 จะลดลง แต่อย่าชะล่าใจ

เพื่อลดความเสี่ยงขอให้ประชาชนทุกคนระมัดระวัง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ล้างมือบ่อย ๆ และใส่หน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปบริเวณผู้คนหนาแน่น รวมทั้งเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น และสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงขอให้เข้ารับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน