ศูนย์วิจัยกสิกรฯ จับตา กนง. อาจประชุมนอกรอบก่อนกำหนด

17 มิ.ย. 2565 | 14:29 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยหลังเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ทำช่วงต่างดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ กว้างขึ้น ขณะที่แรงกดดันเงินบาทอ่อนค่ายังมีต่อเนื่อง พร้อมจับตา กนง. อาจประชุมนอกรอบก่อนกำหนดการเดิมวันที่ 10 ส.ค.65

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด รอบมิถุนายน 2565 ที่มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ไปที่กรอบ 1.50-1.75% ตามที่ตลาดคาด ซึ่งส่งผลทำให้ตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดหุ้นตอบรับในเชิงบวก “อย่างน้อยก็ในระยะสั้น” ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามแรงขายทำกำไรเมื่อเทียบกับสกุลเงินในฝั่งเอเชีย รวมถึงเงินบาท

 

โดยเงินบาทเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ตอบรับปัจจัยดังกล่าวด้วยภาพการแข็งค่าหลุดแนว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ช่วงสั้นๆ แต่ก็กลับมาเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่ากว่าแนว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน (ณ 17 มิถุนายน 2565) ซึ่งทำให้ดูเหมือนกับว่า กรอบการแข็งค่าของเงินบาทยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในระยะนี้

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินบาทยังคงมีทิศทางอ่อนค่า ยังเป็นเรื่องราวของปัจจัยในฝั่งค่าเงินดอลลาร์ฯ เป็นหลัก โดยเฉพาะจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่เฟดส่งสัญญาณว่ายังมีโอกาสเห็นการปรับขึ้นในขนาด 0.75% อีกรอบ ขณะที่ประมาณการใหม่ที่สะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะยังอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมาย 2% ของเฟดตลอดช่วงปี 2565-2567

เป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงการประชุมที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า โดยมุมมองเรื่องดอกเบี้ยของตลาดที่สะท้อนผ่าน Fedwatch Tool ของ CME สะท้อนว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกประมาณ 2% จากปัจจุบันไปที่ระดับ 3.50-3.75% ในปีนี้

 

ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มกว้างขึ้น ทำให้ตลาดการเงินไทยจับตา 2 เรื่องสำคัญ คือ

1) จังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของไทยที่ยังไม่แน่นอน เพราะรอบการประชุมกนง. ตามหลังเฟดอยู่ค่อนข้างนาน โดยรอบการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตามปกตินัดถัดไปคือวันที่ 10 สิงหาคม 2565

 

และ 2) แรงกดดันด้านอ่อนค่าของเงินบาทที่ยังน่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยในเรื่องแรกนั้น ตัวแปรสำคัญ คือ ระดับความรุนแรงของเงินเฟ้อ โดยยอมรับว่า สัญญาณเงินเฟ้อของไทยยังไปไม่ถึงจุดที่สูงที่สุดของวัฏจักรรอบนี้

 

และสำหรับทิศทางเงินบาทนั้น แม้จะเห็นการขายเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับเงินบาทเพื่อปรับโพสิชันทำกำไรบ้าง แต่คาดว่า เงินบาทอาจยังมีโอกาสอ่อนค่าลงต่อเนื่อง แม้ดอกเบี้ยไทยจะเริ่มขยับขึ้น เพราะจังหวะดอกเบี้ยของเฟดเร่งตัวขึ้นเร็วกว่า (ล่าสุด ณ 17 มิถุนายน 2565 เงินบาททุบสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือนครั้งใหม่ใกล้ๆ แนว 35.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ)


ดังนั้นสำหรับผู้นำเข้า คงต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในจังหวะที่เงินบาทยังคงมีโอกาสอ่อนค่าลง พร้อมๆ กับต้นทุนวัตถุดิบ/สินค้าโภคภัณฑ์นำเข้าที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปตามสถานการณ์ขาดแคลนในตลาดโลก