แนวโน้มหนี้เสียพุ่ง ธปท.สั่งแบงก์ประกบรายตัว

04 มี.ค. 2566 | 06:33 น.

แบงก์ชาติห่วงกลุ่มรายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่ จากเศรษฐกิจฟื้นตัวกระจุก หลังสัญญาณเอ็นพีแอลเดือนต่อเดือนปรับเพิ่ม เร่งประสานแบงก์เจ้าหนี้ เดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ประคองกลุ่มเปราะบาง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือ สภาพัฒน์ สร้างเซอร์ไพร์ทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน เมื่อประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ( จีดีพี )ไทยปี 2565 เติบโตแค่ 2.6% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3.2%และต่ำกว่าทุกสำนักวิจัย โดยเฉพาะไตรมาส4 ขยายตัวเพียง 1.4%ลดลงจากที่ขยายตัว 4.5%ในไตรมาสก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากภาคส่งออกไทยที่หดตัวสูงถึง 10%

ขณะที่ตัวเลขการบริโภครายเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่รายงานออกมาไม่ค่อยดี สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยยังมีประเด็นเรื่องการกระจายตัวและการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังไม่แข็งแกร่ง ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ประชาชนและภาระหนี้ที่ยังทรงตัวในระดับสูง

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือ Stage3 ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบจากช่วงโควิด-19 เห็นได้จากลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือปรับลดลดต่อเนื่องจากจุดสูงสุดเดือนกรกฎาคม 2563 

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.

ทั้งจากการปรับโครงสร้างหนี้และการขายหนี้ออกไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะกิจการร่วมทุนบริษัทบริหารสินทรัพย์(JV AMC)ที่รับโอนหนี้กว่าแสนล้านบาทจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เอ็นพีแอลมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นได้ จากการปล่อยสินเชื่อใหม่ แต่จะไม่เกิดปัญหาผิดนัดชำระจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งธปท.กังวลกลุ่มที่รายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่จากภาคส่งออกที่ชะลอตัวและค่าครองชีพกับดอกเบี้ยที่ทยอยปรับขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อภาคครัวเรือนที่ยังเปราะบางได้

"ธปท.จึงขอความร่วมมือกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้พยายามปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับปัญหาและกระแสเงินสดของลูกหนี้ ซึ่งมาตรการแก้หนี้ที่มีอยู่น่าจะเพียงพอรองรับสถานการณ์ลูกหนี้ที่ยังเปราะบางได้"นางสาวสุวรรณีกล่าว

ทั้งนี้ล่าสุดเดือนธันวาคม 2565 เอ็นพีแอล(Stage3)ปรับลดลงจาก 2.77% ของสินเชื่อรวมเป็น 2.73% ส่วนใหญ่เป็นการปรับลดจากสินเชื่อธุรกิจจาก 2.83%เป็น 2.37%และรายย่อยยังทรงตัวเท่าเดิมที่ 2.62%

เมื่อพิจารณาจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคพบว่า สินเชื่อบ้านเอ็นพีแอลลดลงอย่างเห็นได้ชัดจาก 3.25% เป็น 3.01% ส่วนสินเชื่ออื่นๆยังเพิ่มเล็กน้อยเช่น สินเชื่อรถยนต์จาก1.50% เป็น 1.66% สินเชื่อบัตรเครดิตจาก 2.46% เป็น 3.12% และสินเชื่อส่วนบุคคลจาก 2.22% เป็น 2.40%

แนวโน้มหนี้เสียพุ่ง ธปท.สั่งแบงก์ประกบรายตัว

 ขณะที่ยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.38 ล้านล้านบาท โดยมีผู้ได้รับความช่วยเหลือ 5.22 ล้านบัญชี ทั้งธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์และสถาบันการเงินของรัฐ (แบงก์รัฐ) หากเทียบปีต่อปีเอ็นพีแอลทยอยปรับลด แต่หากเทียบเดือนต่อเดือนพบว่า ลูกหนี้ภายใต้ความช่วยเหลือยังเพิ่มขึ้น ซึ่งหลักๆ มาจากลูกหนี้ของแบงก์รัฐ โดยเฉพาะไตรมาส 4 ที่ผ่านมา

 หากพิจารณาความสามารถในการทำกำไร(OPM)แยกตามประแภทธุรกิจแบ่งเป็น 4 เซ็กเตอร์สำคัญพบว่า ธุรกิจที่มีการฟื้นตัวที่ดีคือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจการค้า

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า ภาพรวมเอ็นพีแอลปี 2566 ยังน่าเป็นห่วงจากสัญญาณความเปราะบางของลูกหนี้สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน แม้คาดหวังว่า เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัว

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

โดยธนาคารยังต้องดูแลใกล้ชิดเรื่องคุณภาพหนี้ ขณะที่สัญญาณลูกหนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (Stage2 หรือ SM) ยังสะท้อนความเปราะบาง โดยเฉพาะหนี้รายย่อย ยกเว้นสินเชื่อบ้าน

 “แม้สิ้นปี 2565 เอ็นพีแอลปรับลดเป็น 2.72% แต่มาจากการบริหารจัดการเอ็นพีแอลในเชิงรุก เพื่อรับมือกับคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังไม่จบ ซึ่งบางธนาคารใช้วิธีตัดขายหนี้ หรือบางแห่งโอนหนี้ออกไปบริหารจัดการต่างหาก แต่ปัญหาเอ็นพีแอลยังไม่หมดไป” นางสาวกาญจนา กล่าว

 ขณะเดียวกันลูกหนี้กลุ่ม Stage2 หรือ SM หากพิจารณาไตรมาส4 ปี2565 และปี 2564 จะอยู่ในระดับ 6.22% และ 6.41% ตามลำดับ แต่ไส้ในยังมีหนี้รายย่อยที่่อยู่ในความเปราะบาง ทำให้ธนาคารต้องระมัดระวังอยู่ เพราะสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมขยับขึ้นเช่น รถยนต์จาก 11.08% เป็น 13.66% ขณะที่บัตรเครดิตลดลงจาก 7.92% เหลือ 4.58% และสินเชื่อบุคคลอื่นๆ ลดลงจาก 6.04% อยู่ที่ 4.66%

 อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเอ็นพีแอลทั้งปี 2565 จะต่ำกว่า 2.75% และคาดว่า จะเห็นเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.55-2.80% ในปี 2566 โดยมียังโอกาสอัพไซด์ทั้งจากลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอีที่ยังไม่ได้รับอานิสงส์วัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 “ตัวเลขประมาณการเอ็นพีแอลยังเผื่อหนี้จากลูกหนี้รายย่อย ที่จะทำให้แบงก์ยังคงตั้งการ์ดสูง โดยหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ทั่วถึงอาจส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ โดยเฉพาะหากสามารถดูแลปัญหาคุณภาพหนี้ไม่แย่ลงอาจรักษาระดับกันสำรองไว้ได้ หรือกันสำรองลดลงแต่ยังไม่ลดลงมาก

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,864  วันที่ 23-25  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566