ธุรกิจซื้อหนี้เฮ เตรียมรับเอ็นพีแอล 1 แสนล้าน

17 ม.ค. 2566 | 07:29 น.

ธุรกิจรับซื้อหนี้ชี้ ปี 66 แบงก์เทขายเอ็นพีแอลกว่า 1 แสนล้านบาท เหตุธนาคารต้องการเงินทุนปล่อยสินเชื่อใหม่ “บสก.-เจเอ็มที” เพิ่มงบรับซื้อรวม 3 หมื่นล้าน หน้าใหม่กระสุนลด ดอกเบี้ยขาขึ้น แถมยังไม่ได้ทุนคืน หลังรุกตลาดต้นปี

สถานการณ์หนี้ของคนไทยยังอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง แม้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) จะอยู่ที่ 2.77% ลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 2.88% แต่หากพิจารณาไส้ในจะพบว่า หนี้ในกลุ่ม Stage2 เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตา

เงินให้สินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษของธนาคารพาณิชย์

โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ที่เป็นกลุ่มเดียวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายมีทิศทางขยับขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนดอกเบี้ยของผู้ที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อกดดันให้ราคาสินค้าแพงขึ้นต้นทุนในการใช้ชีวิตก็เพิ่มขึ้นด้วย

 

นายบัณฑิต อนันตมงคล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินเทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปี 2566 แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะถูกนำออกขายมากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปีที่แล้วสถาบันการเงินดึงหนี้กลับประมาณ 40-50% เพราะขายไม่ได้ราคา โดยมีภาระหนี้เฉพาะที่ BAM เข้าร่วมประมูล 90,000 ล้านบาท แต่ยังมีเอ็นพีแอลที่ BAM ไม่ได้เข้าประมูลอีก

นายบัณฑิต อนันตมงคล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินเทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ส่วนปัจจัยหนุนที่ทำให้สถาบันการเงินเทขายเอ็นพีแอล มาจากทั้งทิศทางดอกเบี้ยขยับขึ้น แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม ขณะที่ผู้เล่นหน้าใหม่ต้องรับต้นทุนเพิ่มและกระสุนลดลง เนื่องจากรับซื้อหนี้ไปยังไม่ได้ทุนคืน ทำให้การแข่งขันในตลาดซาลงไม่รุนแรงเหมือนกับ 2 ปีก่อน

 

อีกทั้งมาตรการผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มลดลงมีโอกาสที่จะเห็นลูกหนี้ภายใต้มาตรการดังกล่าวไหลเป็นเอ็นพีแอลประกอบกับสถาบันการเงินต้องการเงินทุน เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อใหม่รับเศรษฐกิจฟื้น

“เราตั้งเป้าซื้อหนี้ประมาณ 9,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท แต่เชื่อว่า ปีนี้มีแนวโน้มจะเกินเป้าเนื่องจากมียอดเอ็นพีแอลนำออกมาระบายในตลาดมากขึ้นทั้งหนี้เก่าและหนี้ใหม่” นายบัณฑิตกล่าว

สำหรับพอร์ตเอ็นพีแอลของบสก.ปีที่แล้วยังไม่ประกาศงบการเงิน แต่กระแสเงินสดรับช่วง 9 เดือนของปีที่แล้วน่าจะอยู่ที่กว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งช่วงเศรษฐกิจไม่ดีการเรียกเก็บหนี้ลดลงเพราะลูกค้าเข้ามาตรการพักหนี้ ยืดหนี้ โดยที่บสก.ยังเน้นกลยุทธ์การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือในรายที่ไม่ไหวจริง

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) กล่าวว่า บริษัทรอดูว่า เดือนกุมภาพันธ์นี้ หนี้จัดชั้น (Stage2) เฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคกว่า 3.6 แสนล้านบาท(ณ ไตรมาส 3/65 คิดเป็น 2.62% ของยอดหนี้รวม) จะสามารถกลับมาผ่อนชำระหรือตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลจำนวนเท่าไร จากปีที่แล้วเอ็นพีแอลออกมาขายในตลาด 1.4 แสนล้านบาท

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT)

“เจเอ็มทีกรุ๊ปเตรียมงบประมาณซื้อหนี้ 20,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 50% จากช่วง 9 เดือนปีที่แล้ว ที่มีพอร์ตหนี้คงค้าง 2.5 แสนล้านบาทโดยมีกระแสเงินสดรับกว่า 4,000 ล้านบาทฐานลูกค้า 4ล้านราย” นายสุทธิรักษ์กล่าว

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) กล่าวว่า เดือนแรกปีนี้มีเอ็นพีแอลออกประมูลขายแล้วประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่ออุปโภคบริโภคและเช่าซื้อรถยนต์ แนวโน้มทั้งปี น่าจะเห็นเอ็นพีแอลออกมาขายไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาทจากปีที่แล้วอยู่ที่ 1.76 แสนล้านบาทจากหนี้ทั้งระบบกว่า 5 แสนล้านบาท

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป

นายสุขสันต์กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มปีนี้น่าจะซื้อหนี้ได้ในราคาไม่แพงเหมือนต้นปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะผู้ประมูลรายใหม่ต้องการสร้างพอร์ตจึงทำให้ราคาสูง แต่กลางปีที่แล้วเข้าประมูลน้อย เพราะหนี้ที่ซื้อก้อนเดิมยังเก็บเงินไม่ได้ส่งผลให้ครึ่งปีหลังซื้อหนี้ได้ในราคาพอเหมาะ

โดยเฉพาะกระบวนการซื้อทำ TOR สามารถจบได้ภายใน 2 เดือน หลังธปท.ยกเลิกมาตรการช่วยเหลือเดือนมิถุนายน 2565 สถาบันการเงินปล่อยขายเอ็นพีแอลปลายเดือนกรกฎาคมและปล่อยขายมากเดือนตุลาคม ซึ่งปิดการซื้อขายได้เร็ว เพราะสถาบันการเงินต้องการเคลียร์หนี้เก่าก่อนปิดงบดุลปลายปี 2565

“ชโยเตรียมเงินทุน 1,500 ล้านบาทเพื่อซื้อหนี้จากปีที่แล้วใช้เงินกว่า 2,000 ล้านบาท โดยรับซื้อได้ 12,400 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน 8,500 ล้านบาทที่เหลืออีก 3,500 ล้านบาทเป็นหนี้มีหลักประกัน โดยพอร์ตหนี้สิ้นปี 66 อยากให้ได้ 1 แสนล้านบาท โดยต้องรับซื้ออีกราว 1.6 หมื่นล้านบาท”

ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตหนี้รวม 8.5 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้มีหลักประกัน 2.1 หมื่นล้านที่เหลือกว่า 6,000 ล้านบาท ไม่มีหลักประกัน ส่วนพอร์ตบริหารหนี้ทั้งปีน่าจะเติบโต 15% คาดว่าทั้งแบงก์และบริษัทสื่อสารจะส่งลูกหนี้มาให้ติดตามประมาณ 5,000 ล้านบาทและจะปล่อยสินเชื่อ 1,000 ล้านบาทในปีนี้จากปีก่อนมียอดคงค้างราว 700 ล้านบาท

“ที่จริงสินเชื่อยังมีความต้องการมากแต่ผมไม่กล้ารุกตลาด เพราะกลัวหนี้เสีย จึงยังต้องระมัดระวัง” นายสุขสันต์กล่าวสรุป

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,853 วันที่ 15 - 18 มกราคม พ.ศ. 2566