TTBเตือนประชาชน "ยกการ์ดสูง" อย่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

14 ก.พ. 2566 | 22:21 น.

TTBโฟกัสปล่อยสินเชื่อความเสี่ยงต่ำรักษาอัตราการเติบโต3% คุมเอ็นพีแอลขยับ2.9% ลั่นมีเวลาปรับตัวสู้ Vitual Bankพร้อมย้ำเตือนประชาชน "ยกการ์ดสูง" ป้องกันตัวเองตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ"

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb เปิดเผยว่าปีนี้ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อเติบโตที่ 3% โดยจะมุ่งเน้นในสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น สินเชื่อรถแลกเงิน  สินเชื่อบ้าน

ไม่มุ่งเน้นไปปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งจะย้อนกลับมาเป็นปัญหาให้กับธนาคารในอนาคตได้

 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การปล่อยสินเชื่อใหม่อาจจะเกิดเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) โดยคาดว่าเอ็นพีแอลจะเพิ่มเป็น 2.9%จากปีก่อนอยู่ที่ 2.7%และส่วนหนึ่งมาจากลูกหนี้ที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดจะสิ้นสุดมาตรการภายในสิ้นปีนี้


"ที่ผ่านมา 2-3ปีเราให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการของธปท. เช่น ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย หรือพักเงินต้น โดยแบงก์ได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวน  แต่สิ้นปีนี้มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวจะสิ้นสุด  ดังนั้นลูกหนี้กลุ่มที่อยู่ ICU มา 2 ปี กรณีไปต่อไม่ได้แบงก์ก็จะต้องบันทึกเป็นหนี้เสียแต่ยืนยันแบงก์ยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อยู่"

ต่อข้อถามถึงแนวทางจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาหรือ Virtual Bank นายปิติกล่าวว่า

ทีทีบีไม่มีแผนจัดตั้ง Virtual Bank เพราะสิ่งที่ทำคือการพาตัวเองไปสู่ Virtual Bankอยู่แล้ว  โดยธนาคารเดินหน้าพัฒนาองค์กรให้เป็น Digital First Experience เพื่อให้ลูกค้าส่วนใหญ่ทำธุรกรรมผ่าน ttb touch 

เห็นได้จากการให้ความสำคัญในการพัฒนาโปรดักต์เพื่อนำเสนอผ่านช่องทาง Digital Only

"สิ่งที่แบงก์จะต้องทำคือต้องแปลงตัวเองให้มี Virtual Product แต่แบงก์ต้องสร้างDigital First Experienceให้เกิดขึ้นก่อนที่จะสร้าง product ที่เป็นDigital Only"  

อย่างไรก็ตาม บริการทางการเงินของธนาคารเป็นเรื่องความไว้วางใจ  ความน่าเชื่อถือ และจำเป็นจะต้องได้รับคำแนะนำ ผมยังเชื่อว่าการมี 2โลกคู่กันระหว่างมนุษย์และดิจิทัลจึงมีความสำคัญมากกว่าดิจิทัลล้วนๆ  แต่เอาเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเจอคนไปอยู่ Digital ซึ่งหมายถึง Virtual  Bank 

Virtual Bank"  ที่ประสบความสำเร็จและมีความเสถียรแล้วมีต้นทุนอยู่ที่ 30% กลางๆ ซึ่งต้นทุนถูกกว่าธนาคารแล้ว 10% ทำให้Virtual Bank สามารถคิดดอกเบี้ยเงินกู้ได้ถูกกว่า  หรือถ้าเป็นเงินฝากVirtual Bankสามารถให้อัตราดอกเบี้ยได้สูงกว่าธนาคาร  แต่นั่นหมายถึง  หนึ่งในหลายร้อยจึงสามารถจะไปอยู่ในจุดนั้นได้


อันนี้เป็น สิ่งที่ท้าทาย เพราะต้นทุนแบงก์ยังอยู่ที่กว่า 45% ดังนั้น ธนาคารจะต้องปรับตัวเองโดยทำให้มีต้นทุนสู้กับ Virtual Bank ได้

 " Virtual Bank ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ส่วนมากวันนี้ยังขาดทุนอยู่ หรือตายกลางทางเพราะกว่าแบงก์จะมีฐานลูกค้า 10 ล้านคนต้องใช้เวลา 60-70ปี ซึ่ง  Virtual Bankต้องใช้เงินทุนเพื่อสร้างฐานลูกและทำต้นทุนทที่ 30% ถ้าสายป่านไม่ยาวก็ยากที่จะไปถึงจุดนั้น  ดังนั่นแบงก์ยังมีเงลาแรับตัวเพื่อไปอยู้ตรงนั้น"

 นายปิติ ตอบข้อถามสื่อมวลชนในประเด็นภัยไซเบอร์  โดยระบุว่า  สิ่งที่เกิดขึ้น ปัจจุบันนั้น  เกิดจากประชนชนบางคนพลาดพลั้งหรือหลงเชื่อมิจฉาชีพ โดยหลอกให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นปลอม หรือแอปแปลกๆ เพื่อเข้ามาทำธุรกรรมผ่านมือถือ


 "ที่สำคัญ จึงอยากให้ประชาชนเริ่มที่ตัวเองก่อน คือ  อย่าดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นแปลกๆ หรือ ปลดล็อคระบบความปลอดภัยบนมือถือหรือJailbreak เพราะจะเปิดช่องให้แอปเถื่อน ซึ่งเป็นแอปของมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงเครื่องและใช้แอปโอนเงินออก  ส่วนสิ่งที่อุตสาหกรรมแบงก์ทำคือมาตรการ ป้องกัน/ ตรวจจับการลงแอปพลิเคชั่นปลอม และการแคปหน้าจอมือถือ"

ต่อข้อถามถึงการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีป้องกันความเสี่ยง จากภัยไซเบอร์นั้น นายปิติกล่าวว่า  ที่ผ่านมาธนาคารลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาและทำมาใช้ให้เท่าทันกับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และยกระดับมาตรการเรื่อยๆ  เพราะภัยไซเบอร์เกิดใหม่ได้ในทุกวัน

เช่น   อดีต ATM  โดนสกรีมมิ่ง ซึ่งธนาคารยกระดับมาเป็นบัตรชิปการ์ด  จากนั้น
มิจฉาชีพก็หันไปคุกคามโมบายแบงกิ้ง ซึ่งมิจฉาชีพหรือโจรเขาเก่งขึ้น ภาคการเงิน ก็เรียนรู้และพัฒนาป้องกันไปเรื่อยๆ แต่ในทางปฎิบัติธนาคารก็ไม่สามารถบอกรายละเอียดของมาตรการ  เพราะมิจฉาชีพก็เก่งขึ้น

แต่อัตราลูกค้าที่พลาดพลั้งหรือหลงเชื่อมิจฉาชีพมีเพียงส่วนน้อย 0.01% ซึ่งมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นได้  ส่วนมาตรการที่จะออกมาในมุมของลูกค้าอีก 99.9% อาจจะถูกพ่วงไปด้วย  ความยากจึงอยู่ตรงนี้   
ดังนั้น จึงต้องพิจารณาประเภทของเทคโนโลยีและจังหวะที่จะนำมาใช้ด้วย


นายปิติกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า     ในมุมของประชาชนต้อง "ยกการ์ดให้สูง"แม้ว่า  ธปท. กับสมาคมธนาคารไทยจะออกมาตรการมาเรื่อยๆ เพื่อยกระดับมาตรการความปลอดภัยก็ตาม  ประชาชนไม่ควรการ์ดตก และสิ่งแรกต้องป้องกันที่ตัวเองก่อน

ส่วนกรณีประชาชนที่โดนมิจฉาชีพเข้าถึงบัญชีนั้น  ต้องรีบแจ้งความเมื่อรู้ตัว   เพื่อนำใบแจ้งความให้กับธนาคารเจ้าของบัญชีเพื่อช่วยป้องกันโดยการล็อควงเงินหรือบัญชีไว้   และเมื่อผลจากกระบวนการตรวจสอบมีข้อเท็จจริงออกมาแล้ว วงเงินก็ยังไม่หายไป