ครม.แตะเบรกออกกฎคุม "ทรัสตี-คราวด์ฟันดิง" ป้องกันฟอกเงิน

31 ม.ค. 2566 | 09:55 น.

ครม.อนุมัติถอนร่างกฎกระทรวง กำหนดผู้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตี -ผู้บริการระบบคราวด์ฟันดิง เป็น สถาบันการเงิน ต้องรายงานการทำธุรกรรม เล็งใช้กฎหมายฟอกเงินฉบับอื่นควบคุมแทน 

31 มกราคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติให้ถอนร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ

ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตี และผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อป้องกันนักทุนลงใช้ช่องทางจากธุรกิจในการฟอกเงินผิดกฎหมาย

ความจำเป็นที่ต้องเสนอถอนร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณาแล้ว เห็นว่า การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตีเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจมีหน้าที่เช่นเดียวกับสถาบันการเงินซึ่งอาจก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ประกอบการเกินความจำเป็น

อย่างไรก็ดี ธุรกิจดังกล่าวยังคงมีความเสี่ยงที่อาจถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จึงแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตีตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน เป็นผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงาน ปปง.ด้วย 

ส่วนการประกอบธุรกิจคราวด์ฟันดิง เป็นธุรกิจใหม่ที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) สามารถระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีระบบการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจและการลงทุนในระบบคราวด์ฟันดิง โดยให้มีการระดมเงินลงทุนในมูลค่าที่ไม่สูงจนเกินไปและยังไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีการฟอกเงินผ่านธุรกิจประเภทนี้

ดังนั้น เพื่อไม่ให้การดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับผลกระทบจนถึงขั้นต้องหยุดชะงักจึงเห็นควรชะลอการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงเป็นสถาบันการเงินไว้ก่อน

หากในอนาคตสำนักงาน ปปง. เห็นว่า มีความจำเป็นต้องให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงมีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงาน ปปง.ก็สามารถทำได้ตาม ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจึงขอถอนร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการด้วย