ค่าเงินบาทปิดตลาดวันที่ 29พ.ย.ที่ระดับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์

29 พ.ย. 2567 | 12:13 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2567 | 23:14 น.

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามทิศทางของสกุลเงินเอเชีย นำโดยเงินเยน กรอบการเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้า 2-6ธ.ค.ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.90-34.60 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทปิดตลาดวันนี้ 29พ.ย.ที่ระดับ  34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.44 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นตามทิศทางของสกุลเงินเอเชีย นำโดย เงินเยนที่ได้รับอานิสงส์จากการคาดการณ์ถึงโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ BOJ ในเดือนธ.ค. และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก 

นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน ทั้งนี้แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ยังมีต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์เนื่องจากยังขาดปัจจัยใหม่ๆมาหนุน สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,283.72 ล้านบาท แต่ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 2,933 ล้านบาท

ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 จากเว็บไซต์ ธปท. อยู่ที่ -24.91 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ -21.77 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่2-6ธ.ค.ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.90-34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สกุลเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ
ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนต.ค. ดัชนี ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนพ.ย. ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานเดือนพ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคเดือนธ.ค.
รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของยูโรโซน ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนพ.ย. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน อังกฤษด้วยเช่นกัน