หลังจากที่กลุ่มผู้เสียหายในนาม กลุ่ม "ห้อง Stark ตัวจริง" ได้เคยเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 มาแล้ว
ล่าสุด วันที่ 30 มกราคม 2567 กลุ่ม "ห้อง Stark ตัวจริง" ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อติดตามสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินคดีหุ้นกู้ STATK ว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีการสั่งฟ้องอดีตผู้บริหารบางรายที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบและลงนามในเอกสารของบริษัทในช่วงที่ก่อเหตุทุจริตตบแต่งตัวเลขทางบัญชีเพื่อล่อลวงนักลงทุน
ในการเดินทางเข้าพบ พ.ต.ต. ยุทธนา ในครั้งนี้ ทางกลุ่ม"ห้อง Stark ตัวจริง" ได้ตั้งข้อเคลือบแคลงสงสัยที่ต้องการได้รับคำตอบจาก DSI จำนวน 17 ข้อ ดังนี้
1. DSI ได้สอบสวนโดยได้มุ่งเน้นไปในประเด็นที่ STARK เป็นเหยื่อถูกฉ้อโกงเพียงเท่านั้น หรือได้ทําการสอบสวนครอบคลุมครบถ้วนในทุกประเด็นที่ประชาชนเป็นผู้เสียหายจากการฉ้อโกงของ STARK และผู้บริหารแล้วหรือไม่ เนื่องจากผู้เสียหายจากหุ้นกู้ STARK ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ STARK และผู้บริหาร แต่ทาง DSI ไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษสําหรับหุ้นกู้โดยเฉพาะ แต่ทําการสอบปากคําผู้เสียหาย และสอบปากคําผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย จํากัด(มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัสจํากัด (มหาชน) ร่วมในสํานวนของคดีพิเศษ ที่ 57/2566 กรณี STARK ร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้อง
2. ประเด็นแห่งคดีที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้สอบสวนยังไม่ครบถ้วนในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องแห่งคดีตามประเด็นข้อกฎหมาย อันได้แก่ หลักความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล ,พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ,พ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ.2535 ,พ.ร.บ.กําหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจํากัด บริษัทจํากัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 ,ประมวลกฎหมายอาญา ,พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543 ,พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือไม่
3. DSI ใช้เวลาสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานนานกว่า 5 เดือน เพราะเหตุใดสํานวนหลักฐานจึงยังไม่เพียงพอในการสั่งฟ้องนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ, นายชินวัฒน์ อัศวโภคีและพวกที่เหลือ ทาง DSI ได้รับข้อมูลหลักฐานจากทาง ก.ล.ต., ผู้สอบบัญชี หรือผู้ที่เกี่ยวข้องครบถ้วนหรือไม่ หรือมีการแทรกแซงกระบวนการสอบสวนเพื่อให้ผู้ต้องหาบางรายพ้นผิดหรือไม่
4. DSI และ ก.ล.ต. มีความเคลือบแคลงสงสัยในการเลิกสัญญา ของบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จํากัด เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 โดยให้มีผลในวันที่ 25 สิงหาคม หรือไม่ เนื่องจากบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จํากัด เพื่อให้บริการ Financial Crime เพื่อสืบสวนและแสวงหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกง ความประพฤติในทางทุจริต และการบริหารงานที่ไม่ถูกต้อง หรือที่เรียกกันตามหน้าข่าวว่าการทํา “Forensic Accounting” เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566
DSI และ ก.ล,ต. มีอํานาจในการสั่งการให้บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จํากัด ดําเนินการทํา Forensic Accounting ต่อได้หรือไม่ สามารถขอผลการทํา Forensic Accounting ที่ได้ดําเนินการไปแล้วได้หรือไม่ และการที่บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จํากัด บอกเลิกสัญญาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหารายใดรายหนึ่งหรือไม่ กรณีดังกล่าวจะส่งผลให้การนําตัวผู้กระทําผิดมาลงโทษไม่ครบหรือไม่
5. DSI และ ก.ล.ต.ได้ดําเนินการอย่างไรเพิ่มเติมเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร จากรณีผู้สอบบัญชีตรวจพบความผิดปกติหลายรายการ แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการใช้เงินที่ได้รับจาก STARK ของทั้งบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จํากัด (“PDITL”) และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (“TCI”) เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ในการออกหุ้นกู้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดําเนินงานตามปกติของแต่ละบริษัทหรือไม่ รวมถึงข้อจํากัดในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท อดิสรสงขลํา จํากัด
การที่ STARK ส่งหนังสือที่ STARK054/2566 ลงวันที่ 29 กันยายน 2566 ดังกล่าว ถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นการตรวจสอบกรณีพิเศษตามที่ก.ล.ต. มีคําสั่งแล้วหรือไม่ ถ้าถือว่ายังไม่เสร็จสิ้นการตรวจสอบ DSI และ ก.ล.ต. ได้มีคําสั่งหรือดําเนินการใดเพิ่มเติมเพื่อให้ STARK ดําเนินการให้แล้วเสร็จอย่างไร
6. การสั่งฟ้อง 5 นิติบุคคล เหตุใดถึงไม่มีการสั่งฟ้องผู้กระทําการแทนนิติบุคคลให้ครบถ้วน และเหตุใดไม่ฟ้องนายชินวัฒน์ อัศวโภคี ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายชินวัฒน์ อัศวโภคี เป็นทั้งกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล(ไทยแลนด์) ,บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ในช่ววงเวลาที่มีการตกแต่งบัญชีของบริษัททั้ง 3 แล้ว
ประกอบกับนายชินวัฒน์ เป็นผู้ลงนามรับรองข้อมูลในหนังสือชี้ชวน “หุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอเปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2564 ชุดที่ 1 และชุดที่ 2
7. เพราะเหตุใดจึงไม่มีการขยายผลไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องในการสั่งให้โอนเงิน รับโอนเงิน เพื่อการตกแต่งทางบัญชี ตามเส้นทางการเงินของ ปปง.
8. ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการแสวงหาข้อมูลในส่วนของผู้ทําบัญชี ผู้มีหน้าที่ทําบัญชี และผู้สอบบัญชี ซึ่งมีความผิดในฐานะผู้มีวิชาชีพทําการรับรอง หรือจัดทําเอกสารที่เป็นเท็จ หรือมีการกระทําความผิดตามกฎหมายอาญาทั่วไปและกฎหมายเฉพาะ
9. ไม่ปรากฏว่ามีการติดตามเส้นทางการเงินในท้ายที่สุดว่าใครได้ไปหรือแปรสภาพไปเป็นทรัพย์สินอะไร ครอบครองหรือยึดถือไว้โดยใคร และเหตุใดไม่มีการร้องขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วย ปปง. และร้องขอให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว
10. ทําไมไม่มีการสอบสวนหรือสั่งฟ้อง กรรมการของ STARK และบริษัทย่อยชุดปัจจุบัน ซึ่งมีหน้าที่ในการติดตาม และดําเนินการกับผู้กระทําความผิดไม่ว่าทั้งทางแพ่งและทางอาญา แต่ยังไม่พบว่ากรรมการชุดปัจจุบันได้ดําเนินตามหน้าที่ความรับผิดชอบ
11. จากที่มีข่าวว่า นายชินวัฒน์ อัศวโภคี ได้โอนสิทธิและหน้าที่ภายใต้บันทึกข้อตกลงการซื้อขายหุ้น ฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 สัญญาแปลงหนี้ใหม่ระหว่าง นายชินวัฒน์ อัศวโภคีและ นายขันเงิน เนื้อนวล ฉบับลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 โดยโอนสิทธิให้แก่ นายขันเงิน เนื้อนวล ตามเอกสารที่อ้างถึงของบริษัท เมเจอร์ ซีนีพล็กซ์ กรุ้ป จํากัด (มหาชน)
ทําไมไม่มีการสอบสวนให้ชัดเจนว่า นายชินวัฒน์ อัศวโภคี ได้นําเงินมาจากไหน เป็นเงินที่เกี่ยวข้องหรือได้มาจาก STARK หรือบริษัทย่อย หรือไม่ และนายขันเงิน เนื้อนวล ใช้เงินจากไหนมาซื้อสิทธิ หรือ เป็นนอร์มินีของใครหรือไม่
เนื่องจากการทําบันทึกข้อตกลงการซื้อขายหุ้น ฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นช่วงที่นายชินวัฒน์ เป็นกรรมการของ STARK และบริษัทย่อยอยู่ใช่หรือไม่ แต่ต่อมาได้ลาออกจาก STARK เพียงไม่กี่วัน ก็ปรากฏข่าวว่ามีการทําสัญญาแปลงหนี้ใหม่ระหว่าง นายชินวัฒน์ และ นายขันเงิน ฉบับลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 นายชินวัฒน์ และ นายขันเงิน มีรายได้หรือทรัพย์สินที่ปรากฏตามหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ เพียงพอที่จะทําการซื้อขายหุ้นหรือสิทธิดังกล่าวได้หรือไม่ เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการฟอกเงินหรือไม่
12. เหตุใดไม่มีการตั้งข้อหาสืบสวน สอบสวน นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ, นายชนินทร์ เย็นสุดใจ และนายชินวัฒน์ อัศวโภคี เกี่ยวกับการตกแต่งบัญชี ตามที่นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ ได้ให้การรับสารภาพกับสื่อ และ ก.ล.ต.
13. พยานหลักฐานที่นายชินวัฒน์ อัศวโภคี นําส่งเป็นคลิปเสียงและคลิปต่างๆ ว่าตนเองไม่เห็นด้วยและไม่เกี่ยวข้อง ทําไม DSI ถึงเชื่อนายชินวัฒน์ อัศวโภคี อย่างง่ายดาย แต่ทําไมไม่เชื่อนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ
14. คลิปเสียงตามข้อ 13. ไม่มีการตรวจเส้นเสียงตามหลักนิติวิทยา เหตุใด DSI จึงเชื่อว่าเป็นเสียงจริงของนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ, นายชนินทร์ เย็นสุดใจ และนายชินวัฒน์ อัศวโภคี
15. คลิปเสียงตามข้อ 13. DSI ไม่เคยตรวจสอบโดยตามหลักอาชญาวิทยาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ(IT) เหตุใดจึงเชื่อว่าเป็นเสียงที่บันทึกขึ้นโดยถูกต้อง หรือไม่มีการทำพยานหลักฐานขึ้นมาใหม่ หรือแก้ไขวันที่ย้อนหลัง หรือใช้เสียง AI ในการจัดทําขึ้น
16. จากคลิปเสียงตามข้อ 13. เป็นสิ่งยืนยันว่านายวนรัชต์, นายชนินทร์ และนายชินวัฒน์ รู้เหตุแห่งการตกแต่งบัญชีมาตั้งแต่ปี 2564 แล้วใช่หรือไม่ แต่การที่กรรมการผู้มีอํานาจบริหาร และอํานาจการตรวจสอบ กลับนิ่งเฉยเมื่อพบการกระทําความผิด ทั้งยังคงรับค่าตอบแทนกรรมการ ค่าเบี้ยประชุมมาโดยตลอด ย่อมแสดงให้เห็นว่าทั้ง 3 คนงดเว้นกระทําการซึ่งมีความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ใช่หรือไม่ เหตุใด DSI ไม่ตั้งขอหา และสืบสวนสอบสวนในส่วนนี้
17. DSI ได้ขยายผลและได้ร้องขอให้ ก.ล.ต. มีคําสั่งให้จัดทํารายงานตรวจสอบพิเศษ (Special Audit) ย้อนหลังก่อนปี 2564 หรือไม่ เนื่องจากในรายงานตรวจสอบพิเศษ (Special Audit) ที่ PWC เป็นคนจัดทําเสนอต่อ ก.ล.ต. นั้น มีข้อความระบุว่า มีพฤติการณ์การตกแต่งหรือการทํายอดซื้อขายหรือธุรกรรมที่ไม่มีอยู่จริงมาตั้งแต่ ก่อนปี 2564