หลัง SVB ล้ม เปิดดูกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ธนาคารไทย

13 มี.ค. 2566 | 23:45 น.

ตรวจสอบมาตรการคุ้มครองเงินฝากของประเทศไทย หลัง SVB (Silicon Valley Bank) ล้ม หากสถาบันทางการเงินในประเทศไทยล้ม คนฝากเงินจะได้เงินคืนหรือไม่

หลังจากเกิดเหตุการณ์ 3 ธนาคารสหรัฐอเมริกาล้ม ภายในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะ SVB (Silicon Valley Bank) ผู้คนอาจประสบกับความวิตกกังวลจนทำให้เหตุการณ์ Bank Run นี้ลุกลามเป็นโดมิโน ถึงขนาดที่ บิล แอคแมน นักลงทุนชื่อดังชาวสหรัฐและผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ชื่อดัง ยังกล่าวถึงความน่ากังวลหากประชาชนตื่นตกใจในปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ว่า

 “หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่เข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ประชาชนอาจตกอยู่ในภาวะสงครามทางจิตวิทยาและแห่กันไปถอนเงินออกจากธนาคารพาณิชย์ แม้ธนาคารนั้นอาจไม่มีความเกี่ยวข้องกับ SVB ก็ตาม”

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ SVB สร้างความกังวลต่อความปลอดภัยของเงินฝาก กับสถาบันการเงิน แม้ภายหลังกระทรวงการคลังสหรัฐจะยืนยันว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้ที่ธนาคาร SVB และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ซึ่งถูกสั่งปิดไปแล้วนั้น จะสามารถเข้าถึงเงินฝากของตนได้เต็มจำนวน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 มี.ค. และเฟด ได้ออกโครงการ "Bank Term Funding Program"เพื่อการป้องกันเงินฝาก และสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีการจัดหาเงินสดและสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ก็ตาม

SVB Silicon Valley Bank

การคุ้มครองเงินฝาก ในประเทศไทย 

ประเทศไทยมีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ DPA ซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 มาตรา 6 มีวัตถุประสงค์เพื่อ คุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงิน โดยปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง 32 แห่ง ,เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน , ดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินและ ชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

หากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง ถูกเพิกถอนใบอนุญาต สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ DPA จะทำหน้าที่จ่ายคืนเงินฝากภายใน 30 วัน โดยกำหนดวงเงินคุ้มครองอยู่ที่ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน ปัจจุบันจ่ายเงินคืนผ่าน 2 ช่องทาง คือ PromptPay ที่ผูกกับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเช็ค

โดยสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้ง 32 แห่ง ต้องเป็นผู้ส่ง เงินนำส่งให้ DPA เพื่อเข้ากองทุนสะสมไว้ปีละ 2 ครั้ง เรียกว่า กองทุนคุ้มครองเงินฝาก โดยไม่ใช่เงินฝากของผู้ฝากเงิน

เงินฝากแบบไหน ได้ความคุ้มครอง

พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 มาตรา 51 ระบุถึงเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองได้แก่ เงินฝากทุกประเภทของสถาบันการเงิน ที่นำมาคำนวณยอดเงินฝากถัวเฉลี่ย และดอกเบี้ยค้างจ่ายที่เกิดจากเงินฝากนั้นจนถึงวันที่สถาบันการเงิน ถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน โดยต้องเป็นเงินฝากและดอกเบี้ยที่เป็นเงินบาท และต้องเป็นเงินฝากในบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ,ไม่ใช่เงินฝากในบัญชีประเภทบัญชี เงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน