โบรกมองปัญหา SVB ไม่ลาม ชี้แบงก์ไทยยังแกร่งไม่น่าห่วง

13 มี.ค. 2566 | 05:38 น.

โบรกมองปัญหา SVB ไม่ลุกลาม หลังทางการสหรัฐตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ฝากเงิน ชี้ธนาคารพาณิชย์ไทยยังแกร่งสภาพคล่องสูงไม่น่าห่วง

บริษัทหลักทรัพย์(บล.) กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเด็นสำคัญในรอบสัปดาห์นี้ที่กดดัน ตลาดหุ้นไทย และหุ้นทั่วโลกยังคงเป็นปัจจัยต่างประเทศ คือ "Silicon Valley Bank (SVB)" ธนาคารขนาดใหญ่ อันดับ 16 ของสหรัฐที่เกิดภาว : Bank run (การที่ผู้ฝากเงินเชื่อว่าธนาคารจะล้มละลาย เลยทำการถอน และปิดบัญชีเงินฝากเป็นจำนวนมาก)

โดยมุมมองของ บล.กสิกรไทยประเมินเรื่องดังกล่าวนั้น จะเป็นปัญหาเฉพาะตัวของธนาคาร ไม่ลุกลามเหมือนในอดีตปี 2008 และจะเป็น Sentiement ลบต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น แต่จะเป็นมุมบวกต่อตลาดหุ้นในเอเซีย จากแนวโน้ม Dollar Index อ่อนค่า คาดว่าจะเห็นเม็ดเงินไหลเข้าประเทศในกลุ่ม EM รวมถึงไทย ซึ่งประเมิน Flow ไหลกลับเข้ามา

ทั้งนี้สถานการณ์ปัจจุบัน ทางการสหรัฐ โดยกระทรวงการคลัง, Fed และ FDIC เข้ามาให้ความช่วยเหลือให้กับผู้ฝากเงินทั้ง 2 ธนาคารเต็มจำนวน โดยตั้งเป็นกองทุนให้ความช่วยเหลือผู้ฝากเงิน (Bank deposit insurance fund) ซึ่งเงินส่วนนี้จะไปหักคืนจากสถาบันการเงินในสหรัฐ โดยผู้ฝากเงินของ SVB และ Signature จะสามารถถอนเงินได้เต็มจำนวนตั้งแต่วันจันทร์ (13 มี.ค.66 ) เป็นต้นไป

ส่วนผลกระทบต่อไทย ประเมินสถานะของธนาคารพาณิชย์ไทยปัจจุบันค่อนข้างปลอดภัย ไม่น่ากังวลเหมือนในสหรัฐ เพราะคนที่ฝากเงินส่วนใหญ่เป็นเงินฝากออมทรัพย์ และสภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ของไทยค่อนข้างดี และส่วนใหญ่เน้นการปล่อย Corporate มากกว่า SMEs

ทั้งนี้ บล.กสิกรไทย ประเมินหุ้นไทยสัปดาห์นี้ คาดว่า SET Index จะแกว่งตัวลง หรือออก Sideway รวมทั้งอาจเห็นการ Rebound ได้สั้นๆ ประเมินแนวรับสำคัญยังคงอยู่ที่ 1,585 จุด

แนะนำการลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวนในสัปดาห์นี้เน้นการตั้งรับ และเลือกหุ้น ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง โดยเน้นไปที่กลุ่มที่ผันผวนต่ำเป็นหลัก ทั้งกลุ่ม ICT กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มรถไฟฟ้า ที่เป็นกลุ่มหุ้นกระแสดีต่อการลงทุนในช่วงนี้

ด้าน นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในฝั่งสถาบันการเงินสหรัฐฯตอนนี้ เป็นปัญหาทางด้านสภาพคล่องเป็นหลัก ซึ่งมีที่มาจากการสะสมของปัจจัยกดดันต่างๆ

ทั้งจากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด, การถอดถอนสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed), ภาวะ Earning contraction และภาวะขาลงของสินทรัพย์ Digital และ cryptocurrency

ส่งผลให้เมื่อบริษัทที่เผชิญปัญหาเหล่านี้ต้องการสภาพคล่องแบบทันทีทันใด ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาสภาพคล่องให้ก่อนหน้านี้จึงเตรียมการไม่ทัน และเมื่อต้องการเตรียมการ ก็เผชิญกับผลขาดทุนทางด้านราคาสินทรัพย์เข้าไปอีก จากการที่อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่สูงกว่าระดับในอดีต ส่งผลให้สถาบันการเงินเหล่านี้เผชิญกับวิกฤติสภาพคล่องแบบทันทีทันใด และทำให้ถูกสั่งปิดกิจการลงทันที

แต่เบื้องต้นจากการตรวจสอบสัญญาณต่างๆ ล่าสุดในตลาด พบว่าเครื่องชี้สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินสหรัฐฯแม้ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ถือว่าส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้

ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจยังต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข รวมทั้งจะได้รับการเยียวยาในเชิงบวกบ้างแล้ว หลังจากที่ล่าสุดทางการสหรัฐฯ ได้ทำตัวเป็น The last resort ออกมาตรการ Backstop

เพื่อจัดหาสภาพคล่องฉุกเฉิน (Funding program) ให้กับธนาคารที่ประสบปัญหา และการันตีเงินฝากของผู้ฝากเงินทั้งในส่วนที่ได้รับความคุ้มครอง และไม่ได้รับความคุ้มครอง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ล่าสุดสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหลายตอบรับเชิงบวกขึ้นได้บ้าง

อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุด อาจกลับกลายเป็นปัจจัยบวกทางอ้อมต่อมายังภาวะการลงทุนในตลาดทุนโลกช่วงต่อไป ผ่านช่องทางการปรับเปลี่ยนโหมดนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังของสหรัฐ

โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ล่าสุดมีโอกาสที่ Fed จะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียงแค่ 0.25% ในการประชุมวันที่ 21-22 มีนาคม 2566