จับตา 5 ประเด็นรุมเร้า หวั่นฉุดเศรษฐกิจจีนปี 2566

25 ธ.ค. 2565 | 09:45 น.

จับตา 5 ประเด็นรุมเร้า หวั่นฉุดเศรษฐกิจจีนปี 2566 : คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์ โดย พิมฉัตร เอกฉันท์ ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ได้ค่อนข้างเร็ว ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าจีนเผชิญการแพร่ระบาดก่อนที่อื่นในโลก อีกทั้งยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงการให้เงินอัดฉีดภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

 

นอกจากนี้ ยังมีแรงส่งจากภาคการค้าที่ฟื้นตัวได้ดีตามทิศทางเศรษฐกิจโลก เห็นได้จากมูลค่าส่งออกของจีนทั้งปี 2564 ที่มากสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวถึง 29.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งสูงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ 

จึงไม่น่าแปลกที่เศรษฐกิจจีนในปี 2564 จะขยายตัวได้ถึง 8.1%  เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.2%

 

อย่างไรก็ดี ในปี 2565 เศรษฐกิจจีนกลับเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด จากตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่สามขยายตัว 3.9% YoY ทำให้เศรษฐกิจจีน 9 เดือนแรกขยายตัวได้เพียง 3% ซึ่งห่างจากเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 5.5% ค่อนข้างมาก 

อีกทั้งนักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เศรษฐกิจจีนปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้เพียง 3% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดเป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่ปี 2519

 

และในปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะขยายตัวได้ราว 4-5% (เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ขยายตัว 6-8%) ซึ่งมาจากมรสุมทางเศรษฐกิจรอบด้าน ที่สรุปได้เป็น 5 ประเด็น ดังนี้

 

  • ประการแรก: การบริโภคในประเทศฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่จากมาตรการ Zero COVID ที่จะยังคงอยู่ต่อไปอย่างน้อยไตรมาสแรกของปี 2566

 

ต้องยอมรับว่า จีนยังไม่สามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้นั้น เนื่องจาก ประชากรจีนเกือบทั้งประเทศได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกเป็นชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อต่ำกว่าชนิดอื่นๆ และมีเพียงไม่ถึง 1% ของประชากรเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น

 

แม้ว่าปัจจุบัน ทางการจีนจะผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ไปแล้วบางส่วน เช่น การอนุญาตให้รับประทานอาหารในร้านได้ การเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ในพื้นที่ที่ไม่มีการระบาด แต่หลายมาตรการยังคงเป็นข้อจำกัดหลักต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

ทั้งการกักตัวหลังเดินทางเข้าประเทศ การแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบเพื่อเข้าใช้บริการสถานที่สาธารณะ การบังคับตรวจหาเชื้อโควิด-19 แก่ประชากรทั้งเมือง (Mass Testing)

 

โดยเฉพาะการล็อกดาวน์เมืองทันทีที่พบผู้ติดเชื้อเพียงไม่กี่ราย ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากชาวจีนในหลายเมืองที่ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เมืองดังกล่าว

   จับตา 5 ประเด็นรุมเร้า หวั่นฉุดเศรษฐกิจจีนปี 2566

  • ประการที่สอง: ภาคการผลิตและส่งออกเริ่มแผ่ว หลังเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณชะลอตัว

 

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่มีเบื้องลึกเบื้องหลังมาอย่างยาวนาน ทำให้การตอบโต้ระหว่างกันรอบนี้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นประเด็นเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก

 

แต่กระนั้น การเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลัก ๆ เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ท่ามกลางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว และกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสำหรับจีนที่พึ่งพาภาคการผลิตและการค้าสูงถึงราว 30% ของจีดีพี

 

อีกทั้งยังมียุโรปเป็นคู่ค้าหลักอันดับสองของจีน จึงได้รับผลกระทบอย่างมากจากโมเมนตัมการส่งออกที่ชะลอตัวลง สอดคล้องกับตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตในเดือนตุลาคมปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 50 (น้อยกว่า 50: กิจกรรมการผลิตหดตัว) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกับการส่งออกที่พลิกกลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดโควิด-19     

 

  • ประการที่สาม: วิกฤตหนี้ตลาดอสังหาฯ ที่มาพร้อมกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

 

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดอสังหาฯ จีนเติบโตอย่างร้อนแรงจากการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนผ่านยอดสินเชื่อคงค้างเพื่อที่อยู่อาศัยของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 6.6 ล้านล้านหยวน (หรือคิดเป็น 13.6% ของจีดีพี) ในปี 2554 เป็น 38.3 ล้านล้านหยวน (33.5% ของจีดีพี)

 

ทำให้ในปี 2564 ทางการจีนต้องออกมาตรการควบคุมการก่อหนี้ใหม่ เพื่อลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาฯ ระลอกใหม่ที่เรียกว่า นโยบาย “Three Red Lines” เหล่านี้เลยส่งผลต่อเนื่องเป็นโดมิโนจนลุกลามกลายเป็น “วิกฤตหนี้ครั้งใหญ่ของ Evergrande” ที่สร้างความบอบช้ำให้แก่ตลาดอสังหาฯ ในวงกว้าง

 

อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมก่อสร้างและห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้อง สะท้อนจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนที่ชี้ว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 การลงทุนพัฒนาอสังหาฯ ลดลง 7.4% YoY เช่นเดียวกับกำไรของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าที่ลดลงมากกว่า 80% YoY

 

ขณะที่กำลังซื้อในประเทศก็ชะลอลงจากการขาดความเชื่อมั่นของประชาชน ความมั่งคั่งโดยรวมลดลงจากราคาอสังหาฯ ที่ตกต่ำ ทำให้บางส่วนเริ่มผิดนัดชำระหนี้ หรือเลือกที่จะหยุดชำระหนี้ชั่วคราว ส่งผลให้ราคาบ้านใหม่เฉลี่ยในเดือนตุลาคม 2565 ติดลบ 1.6% YoY ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6   

จับตา 5 ประเด็นรุมเร้า หวั่นฉุดเศรษฐกิจจีนปี 2566

  • ประการที่สี่:ความเชื่อมั่นจากต่างชาติเริ่มเปราะบางจากประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงคุกรุ่น

 

ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา จีนถือเป็นประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากความพยายามเปิดประเทศให้มีความเป็นสากลมากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2544 ที่เป็นจุดเปลี่ยนให้จีนกลายเป็นผู้ผลิตสินค้าแทบทุกอย่างบนโลกภายใต้ “Made in China” ดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้าไปตั้งฐานการผลิตในจีน และทำให้จีนกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกไปโดยปริยาย

 

อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง แรงกดดันจากสงครามการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ ที่รอวันประทุ ไม่ว่าจะเป็นคู่ขัดแย้งระหว่าง จีน-สหรัฐฯ จีน-ไต้หวัน จีน-ออสเตรเลีย จีน-อินเดีย และอื่น ๆ ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานสินค้าสำคัญของโลกบางส่วนต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว

 

ไม่ว่าจะเป็น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ หรือแม้แต่เซมิคอนดักเตอร์ ทำให้บริษัทต่างชาติจำนวนไม่น้อยเริ่มมองถึงการปรับเปลี่ยนเส้นทางการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากจีนหรือแม้กระทั่งการย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกจากจีนไปเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น Apple Foxconn  Google Microsoft และ Amazon ที่กระจายการผลิตไปยังหลายประเทศในเอเชียแล้ว

 

  • สุดท้ายกับนโยบายการเงินและการคลังของจีนที่มีข้อจํากัดมากขึ้น

 

เมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มอ่อนแรงลง ส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้าจีนชะลอลง ขณะที่การบริโภคในประเทศก็ลุ่มๆ ดอนๆ ทำให้การผ่อนคลายนโยบายการเงินของจีนจึงยังมีความจำเป็นมากกว่าประเทศอื่น ๆ ท่ามกลางนโยบายการคลังที่ถูกใช้ไปอย่างมหาศาลช่วงโควิด-19

 

สวนทางกับการจัดเก็บรายได้รัฐที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้งบประมาณภาครัฐ 10 เดือนแรกของปี 2565 ขาดดุลถึง 6.7 ล้านล้านหยวน หรือ 0.94 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  และมีแนวโน้มที่จะขาดดุลสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งที่สอง

 

นอกจากนั้น การผ่อนคลายนโยบายการเงินของจีนที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ ยังส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเงินทุนไหลออกเพิ่มเติม จากตัวเลขเงินทุนสุทธิจากต่างชาติไหลออกจากจีนตลอดครึ่งแรกของปี 2565 สูงถึง 1.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นเม็ดเงินขายสุทธิที่มากที่สุดตั้งแต่ปี 2559 เลยทีเดียว และส่งแรงกดดันต่อเงินหยวนให้อ่อนค่าลงถึงเกือบ 10%  

 

  • สำหรับประเทศไทยแล้ว คงไม่อาจเลี่ยงผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง โดยเฉพาะภาคการส่งออก เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าหลักอันดับสองของไทย คิดเป็นเกือบ 20% ของมูลค่าการค้ารวม หรือราว 1 แสนล้านดอลลาร์ฯ

 

นำโดยสินค้าส่งออกหลักอย่างหมวดสินค้าขั้นกลางและสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบฯ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

 

อีกทั้งยังกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของไทยจากการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางจากจีนที่สูงถึงเกือบ 25% โดยเฉพาะกลุ่มเคมีภัณฑ์ ส่วนประกอบยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

นอกจากนี้ ยังจะกระทบต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมภาคการท่องเที่ยวของไทยจากความไม่แน่นอนในการดำเนินมาตรการ Zero COVID จากการพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนที่สูงถึงเกือบ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในช่วงก่อนโควิด-19 สร้างรายได้แก่ภาคธุรกิจไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท

 

ฉะนั้นแล้ว ผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักอาจจะต้องเร่งกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดศักยภาพอื่น ๆ มากขึ้น การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลาย ตลอดจนการวางแผนทางการเงินที่รัดกุม ท่ามกลางต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า