ค่าเงินเยนดิ่งทำนิวโลว์ในรอบ 32 ปี ทะลุ 149 เยน/ดอลลาร์แล้ว

20 ต.ค. 2565 | 00:51 น.

ค่าเงินเยนดิ่งทะลุ 149 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการทำนิวโลว์ในรอบ 32 ปี ขณะที่ธนาคารกลาง (BOJ) ยังใจแข็ง ยันไม่ขึ้นดอกเบี้ย แม้เยนจะทรุดหนักใกล้แตะแนวรับสำคัญทางจิตวิทยาที่ระดับ 150 เยนแล้วก็ตาม

 

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เน้นย้ำเมื่อวันพุธ (19 ต.ค.) ถึงความจำเป็นในการใช้ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ ต่อไปเพื่อปกป้อง เศรษฐกิจญี่ปุ่น จากความเสี่ยงภายนอก โดยยืนยันว่า จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ ค่าเงินเยน จะทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปีแล้วก็ตาม

 

ทั้งนี้ เยนยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐวานนี้ (19 ต.ค.) โดยล่าสุดร่วงลงทะลุ 149 เยน แตะระดับต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบ 32 ปี ใกล้แนวรับสำคัญทางจิตวิทยาที่ระดับ 150 เยน

 

นายเซอิจิ อาดาชิ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ BOJ กล่าวว่า ยังคงเร็วเกินไปที่ BOJ จะหันออกจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ เนื่องจากญี่ปุ่นยังคงเผชิญความเสี่ยงจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และตลาดการเงินที่ผันผวน

 

"เราควรใช้ความระมัดระวังเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงิน ขณะที่มีความเสี่ยงสูงในช่วงขาลง และญี่ปุ่นอาจกลับไปเผชิญภาวะเงินฝืด" นายอาดาชิกล่าว

 

 

ในวันเดียวกัน นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวเช่นกันว่า นโยบายการเงินไม่ได้มีเป้าหมายโดยตรงในการกำหนดทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน โดยขณะนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีความเปราะบางต่อปัจจัยภายนอก และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากมาตรการทางการเงินที่เหมาะสม

 

ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

ถ้าหากว่าการอ่อนค่านั้นทรงตัว ก็จะเป็นผลดี เพราะสกุลเงินควรเคลื่อนไหวในลักษณะที่มั่นคง

ด้านนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น เมื่อวานนี้ (19 ต.ค.) ยอมรับว่า การที่ค่าเงินผันผวน และเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐจนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปี ได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็จริง เพราะทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในการวางแผนธุรกิจ แต่ถ้าหากว่าการอ่อนค่านั้นทรงตัว ก็จะเป็นผลดี เพราะสกุลเงินควรเคลื่อนไหวในลักษณะที่มั่นคง สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการเงิน

 

 

นอกจากนี้ ยังกล่าวยอมรับว่า ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าส่งผลดีต่อผู้ส่งออกชาวญี่ปุ่น เพราะเป็นการเพิ่มผลกำไรเมื่อแปลงเป็นเงินเยน แต่สำหรับผู้นำเข้า คือต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยังหมายถึงการที่เม็ดเงินไหลออกจากญี่ปุ่นไปยังสหรัฐ

 

เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา BOJ ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินเยน เมื่อมีการอ่อนค่าลงมาแตะระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ แต่เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ค่าเงินก็ยังอ่อนค่าเรื่อย ๆ ลงมาอยู่ที่ 149.11 เยนต่อดอลลาร์ โดยกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า มีการติดตามอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการที่มีความเด็ดขาดหากค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าลงอีก