จับตาค่าเงินเยนผันผวน “คิชิดะ” ยันพร้อมแทรกแซงอีกถ้าจำเป็น

24 ก.ย. 2565 | 00:16 น.

ความผันผวนของค่าเงินเยน ทำให้ IMF ประกาศจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะที่นายกฯญี่ปุ่นยืนยันหากจำเป็นก็พร้อมที่จะเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราอีกครั้ง หลังเยนหลุดระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องแทรกแซงตลาดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา  

ค่าเงินเยน มีความผันผวนมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ ธนาคารกลางสหรัฐ และชาติอื่นๆต่างใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดและขยับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ ญี่ปุ่น เองประกาศนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ ทำให้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศจำเป็นต้องจับตาสถานการณ์ค่าเงินเยนอย่างระมัดระวัง

 

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ เมื่อวันพฤหัสฯ (22 ก.ย.) ทางการญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2541 เพื่อพยุงค่าเงินเยนที่ทรุดตัวลงอย่างหนัก ซึ่งการเข้าแทรกแซงครั้งล่าสุดนี้ทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น 1.1% แตะที่ 142.48 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่เงินเยนอ่อนค่าลงหลุดระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2541 โดยสาเหตุที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าฉับพลันนั้น เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษในวันที่ 22 ก.ย.โดยคงไว้ที่ระดับ-0.1% หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่งประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% เมื่อวันพุธ (21 ก.ย.)

ค่าเงินเยนยังคงมีความผันผวน

ก่อนหน้านี้ ค่าเงินเยนเพิ่งทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปีเมื่อเทียบดอลลาร์ โดยดอลลาร์ได้ปัจจัยหนุนจากมุมมองที่ว่า เฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ สวนทางกับ BOJ ที่ยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษ (Ultraeasy Monetary Policy) ทำให้ช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นขยายกว้างขึ้น

 

อย่างไรก็ดี นายชูนิชิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ปฏิเสธที่จะเปิดเผยวงเงินที่ใช้ในการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราครั้งล่าสุดนี้ และไม่ได้ระบุว่ามีประเทศอื่นที่เข้าร่วมกับญี่ปุ่นในการแทรกแซงตลาดหรือไม่

 

โดยหลักการแล้ว การที่ญี่ปุ่นแทรกแซงตลาดจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกอื่นๆในกลุ่ม G7 โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา หากญี่ปุ่นต้องการแทรกแซงค่าเงินดอลลาร์/เยน

ญี่ปุ่นเคยเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราในช่วงเกิดวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 2541 ซึ่งขณะนั้นเยนดิ่งลงสู่ระดับ 146 เมื่อเทียบดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังเคยเข้าแทรกแซงตลาดในช่วงที่เงินเยนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 130 เทียบดอลลาร์ในปี 2554 แต่ครั้งนั้นเป็นการเข้าแทรกแซงเพื่อให้เยนอ่อนค่าลง

นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

“คิชิดะ”ลั่นพร้อมแทรกแซง FX หนุนค่าเงินเยนอีก หากจำเป็น

ด้านนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า การปรับตัวอย่างผันผวนของเยนอันเนื่องจากการเก็งกำไรเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจะดำเนินการอย่างระมัดระวัง และพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราอีกครั้ง หากมีความจำเป็น "หากเยนมีความเคลื่อนไหวที่ผันผวนอย่างมาก เราก็จะดำเนินการอีกครั้ง"

 

ถ้อยแถลงของนายคิชิดะบ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นของญี่ปุ่นในการสกัดความผันผวนของค่าเงินเยน และมีขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี เพื่อพยุงค่าเงินเยนที่ทรุดตัวลง