“เงินเยน” ทรุดหนัก ญี่ปุ่นพร้อมงัดใช้ทุกมาตรการรับมือ

14 ก.ย. 2565 | 04:47 น.

ญี่ปุ่นพร้อมใช้ทุกมาตรการที่มีอยู่ รับมือการอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงของ “เงินเยน” หลังดิ่งอีกครั้งเมื่อคืนนี้ (13 ก.ย.) ทะลุ 144 เยนต่อดอลลาร์ เมื่อมีข่าวเงินเฟ้อเดือนส.ค.ของสหรัฐพุ่งแรงเกินคาด ซึ่งทำให้เชื่อว่าเฟดอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยอัตราสูงในการประชุมสัปดาห์หน้า

นายมาซาโตะ คันดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังฝ่ายกิจการต่างประเทศของ ญี่ปุ่น เปิดเผยวันนี้ (14 ก.ย.) ว่า เขามีความวิตกเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ ค่าเงินเยน และได้เตือนเกี่ยวกับการอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงของเงินเยนเมื่อคืนนี้ (13 ก.ย.) หลัง สหรัฐ เปิดเผยข้อมูล เงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นเกินคาด

 

"เรากำลังจับตาความเคลื่อนไหวของเงินเยนอย่างเร่งด่วน และจะดำเนินการอย่างเหมาะสมกับความเคลื่อนไหวของสกุลเงินโดยไม่ตัดทางเลือกใด ๆออกไป" นายคันดะกล่าว

 

ณ เที่ยงวันนี้ (14 ก.ย.) ตามเวลาโตเกียว เงินเยนเคลื่อนไหวที่ 144.38-144.39 เยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่เคลื่อนไหวในระดับ 142.25-142.26 เยนต่อดอลลาร์ (ที่ตลาดโตเกียว) เมื่อเวลา 17.00 น.ของเมื่อวานนี้ (13 ก.ย.) 

 

ทั้งนี้ ดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับเยน รวมถึงเงินยูโร และสกุลเงินอื่น ๆ เมื่อวันอังคาร (13 ก.ย.) หลังตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่สูงกว่าคาดบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจยังคงจำเป็นจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (FOMC) ระหว่างวันที่ 20-21 ก.ย.นี้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงแตะ 145 เยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบ 24 ปี ทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และกระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบายต้องพยายามจูงใจไม่ให้นักลงทุนเทขายเงินเยน

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากระบุว่า ผู้กำหนดนโยบายของญี่ปุ่นมีเครื่องมีที่มีประสิทธิภาพเพียงไม่กี่อย่างที่จะแก้ไขปัญหาการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งถูกมองว่าเกิดจากนโยบายการเงินที่แตกต่างกันระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐ

 

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ค่าเงินเยนที่อ่อนลงต่อเนื่องนั้น เป็นผลจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่เปราะบางของประเทศ และเน้นทำนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve control) สวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เป็นไปทิศทางเข้มงวดเพื่อกดเงินเฟ้อให้ต่ำ โดยการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย