บัญชีกลาง จ่อใช้ Blockchain เชื่อม e-bidding เริ่ม ต.ค. นี้

23 ส.ค. 2565 | 10:46 น.

“กรมบัญชีกลาง-กรุงไทย” พัฒนาระบบ e-bidding เชื่อมโยงข้อมูลผ่าน Blockchain เพิ่มประสิทธิภาพและป้องกันความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูล ลบข้อครหาเปิดข้อมูลราคาก่อนการประมูลจบ ชี้คาดช่วยรัฐประหยัดงบได้ไม่ต่ำกว่า 10%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่างกรมบัญชีกลางกับธนาคารกรุงไทย ในโครงการ e-GP Transformation for Thailand’s Future : นวัตกรรมใหม่ ติดปีกผู้ประกอบการไทย ให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน 

 

เพื่อพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเซน มาช่วยเพิ่มความโปร่งใสและความปลอดภับในการเสนอราคาด้วยวิธี e-bidding ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เสนอราคาว่าไม่มีใครสามารถเข้าถึงการเสนอราคาได้ จนกว่าจะสิ้นสุดการเสนอราคา จึงจะเปิดเผยผลการเสนอราคาได้  

โครงการ e-GP Transformation for Thailand’s Future

นอกจากนี้ยังได้นำระบบการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง มาช่วยยืนยันตัว เพื่อเพิ่มความรวดเร็วให้กับเอกชนในการขั้นตอนการลงทะเบียนเป็นผู้้ค้าภาครัฐ  สามารถลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและสร้างมาตรการการบริการภาครัฐ ซึ่งจะระบบดังกล่าวจะเริ่มใช้ในเดือน ต.ค.2565 นี้เป็นต้นไป

นางกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยวิธี e-bidding ทั้งของราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องเข้าสู่ระบบ e-GP เท่านั้น เพื่อความโปร่งใสและลบคำครหา การเปิดเผยราคาก่อนการประมูลสิ้นสุด

 

และระบบนี้จะช่วยรัฐประหยัดงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยตั้งเป้าว่าจะประหยัดงบประมาณได้ 10% หรือ 64,000 ล้านบาท จากมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต่อปีที่ประมาณ 640,000 ล้านบาท

 

ด้านนายผยง ศรีวณิช  กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาสนับสนุนกการทำงานของกรมบัญชีกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจเข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างอย่างสะดวกโปร่งใส และช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี)​ ที่เป็นผู้ค้าภาครัฐกว่า 300,000 ราย

 

ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินมากขึ้น เพราะเมื่อเข้าสู่ระบบe-bidding  ภาครัฐ จะมีการเชื่อมข้อมูลการเป็นคู่สัญญาสู่ระบบมาตรฐาน  ยกระดับการทำธุรกรรมการค้ากับภาครัฐให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลอย่างครบวงจร