‘Zipmex’ ทุบคริปโต นักลงทุนผวา จี้ ก.ล.ต. ดูแล หวั่นโดมิโนสินทรัพย์ดิจิทัล

22 ก.ค. 2565 | 06:14 น.

วิกฤตศรัทธาคริปโต นักลงทุนผวา“ซิปเม็กซ์" ประกาศระงับถอนเงินบาท-คริปโต หลังคู่ค้านำสินทรัพย์ดิจิทัลไปฝาก Babel-Celsius มูลค่ากว่า 1.9 พันล้านบาท ขาดสภาพคล่อง วงการเชื่อไม่กระทบลงทุนคริปโต ตั้งคำถามกำกับ ก.ล.ต. บิทคับ จี้ตรวจสอบสินทรัพย์ดิจิทัลลูกค้าทุกเอ็กซ์เชนจ์

การประกาศระงับการฝากถอนเงินบาทและคริปโต ของ ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย (Zipmex Thailand) แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 โดยอ้างสถานการณ์ต่างๆ รวมถึง ความผันผวนของตลาด เหตุการณ์ต่างๆในอุตสาหกรรม ตลอดจนปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นจากคู่ค้าทางธุรกิจหลัก อันอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท ระงับการถอนทุกกรณีชั่วคราวเพื่อรักษาเสถียรภาพของแพลตฟอร์ม สร้างความสั่นสะเทือน และวิกฤต ศรัทธาต่อนักลงทุน ในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยอีกครั้ง

 

โดยซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ถือเป็นผู้ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในตลาด เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย และได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากการระดมทุนรอบ Series B มูลค่า 1,300 ล้านบาท จากบริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด, บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน), บริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน), MindWorks Capital ซึ่งเป็นบริษัทจากฮ่องกง และ Jump Capital ผู้บริหารเงินที่ร่วมลงทุนในสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของ ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย เกิดขึ้นท่ามกลางตลาดคริปโตตกต่ำทั่วโลก ที่กำลังเป็นวิกฤตสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนคริปโตทั่วโลก นับตั้งแต่การล่มสลายของ Terra -LUNA และตามมาด้วยอีกหลายแพลตฟอร์มที่ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมา

‘Zipmex’ ทุบคริปโต นักลงทุนผวา จี้ ก.ล.ต. ดูแล หวั่นโดมิโนสินทรัพย์ดิจิทัล

“ซิปเม็กซ์” ปรับแผนการเงิน

 

ล่าสุดรายงานข่าวบริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ซิปเม็กซ์ได้มีการปรับแผนการเงินของบริษัทฯ ให้รัดกุม และได้มีการถอนเงินทุน และสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัทฯ ที่เคยฝากไว้กับคู่ค้าทางธุรกิจออกมา บริษัทฯ ขอเรียนแจ้งให้ทุกท่านมั่นใจว่า สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผล กระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ในเร็ววัน

 

โดยตัวเลขการฝากระหว่างซิปเม็กซ์ และพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ดังต่อไปนี้ การฝากกับ Babel ที่ 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการฝากกับ Celsius ที่ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้ ซิปเม็กซ์ได้หารือกับทาง Babel อย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว และบริษัทฯ อยู่ระหว่างการประเมินทางเลือกตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายยังคงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขสถานการณ์นี้โดยเร็วที่สุด

 

ทั้งนี้ สำหรับการลงทุนของซิปเม็กซ์ ใน Celsius ทางบริษัทฯ ขอชี้แจงว่า บริษัทฯได้รับผลกระทบเพียงส่วนน้อยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทางบริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะนำเงินทุนของบริษัทมาใช้ในการจัดการความเสียหายส่วนนี้ รวมถึง บริษัทฯ ยังคงมีการหารือร่วมกับทาง Celsius อย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน   ขณะนี้ บริษัทฯ กำลังดำเนินการในทุกๆ ช่องทาง รวมถึงการระดมทุน การดำเนินการตามกฎหมาย หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่

 

ซิปเม็กซ์ยังคงยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบกับบริการ Trade Wallet แต่อย่างใด และยังคงเปิดให้บริการต่อไปตามปกติ ซึ่งบริการนี้รวมถึงการฝาก และถอนสินทรัพย์ดิจิทัลบนแพลตฟอร์มของซิปเม็กซ์  ในส่วนของบริการ ZipUp+ ซึ่งถูกระงับการให้บริการเป็นการชั่วคราว ในขณะนี้ บริษัทฯ กำลังดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้บริการการโอนของ Z Wallet กลับมาใช้งานได้เป็นปกติโดยเร็วที่สุด

 

ซีอีโอ"ซิปเม็กซ์"ยันไม่หนี

 

ขณะที่นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด  กล่าวว่า ผมขอเรียนอีกครั้งนะครับว่าในฐานะ CEO ของบริษัท ผมไม่ได้หนีไปไหน ยังคงอยู่ที่ประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวและเราได้มีการหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างใกล้ชิด และในขณะเดียวกัน เสียงที่ท่านได้ส่งมาผ่านทาง official account ก็ดี หรือผ่านทางแชทส่วนตัวของผม ผมและทีมงานได้อ่านทุกข้อความ  และจะรวบรวมคำถามและชี้แจงทุกท่านต่อไปครับ

‘Zipmex’ ทุบคริปโต นักลงทุนผวา จี้ ก.ล.ต. ดูแล หวั่นโดมิโนสินทรัพย์ดิจิทัล

ผมขอความกรุณาทุกท่าน ให้ความเคารพข้อมูลส่วนบุคคลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทด้วยครับ เช่นเดียวกับความปลอดภัยของสินทรัพย์ดิจิทัลของทุกท่าน ข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานในบริษัททุกคนซึ่งเปรียบเสมือนครอบครัวของผมก็สำคัญไม่แพ้กัน

 

มั่นใจไม่กระทบนักเทรดคริปโต

 

แหล่งข่าวจากวงการสินทรัพย์ดิจิทัลรายหนึ่ง กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับซิปเม็กซ์ จะไม่ส่งผลกระทบกับนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะเป็นส่วนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปฝาก ผ่าน ZipUp เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทางลูกค้าในประเทศไทยมีการฝากไปที่ Zipmex Global ที่สิงคโปร์ ไม่ได้เป็นลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งขณะนี้ในวงการมีการรับรู้มาเป็นปีแล้ว ว่า ซิปเม็กซ์ มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลส่งออกไปข้างนอก แต่คำถามคือ สำนักคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไม่เคยเข้าไปตรวจสอบ หรือ ออกเกณฑ์ป้องกัน

 

“กลุ่มคนที่นำเงินไปฝาก Zipmex Global ที่สิงคโปร์ ส่วนใหญ่เป็นคนดังมีชื่อเสียง โดยคาดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นน่าจะมากกว่า 5,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากขณะนี้มูลค่าบิตคอยน์ ลดลง 3 เท่า ตัวเลขมูลค่าความเสียหายเหลือประมาณ 1,900 ล้านบาท”

 

ส่วนการเจรจาหานักลงทุนมาซื้อเพื่อนำเงินมาจ่ายชดเชยให้กับผู้ได้รับความเสียหายถือเป็นเรื่องดี เท่าที่ทราบขณะนี้ซิปเม็กซ์ คุยอยู่กับผู้สนใจลงทุนหลายรายทั้งในและต่างประเทศ อาทิ คอยน์เบส ไบแนนซ์ และกสิกร

 

“บิทคับ”จี้ตรวจสอบทุกเอ็กซ์เชนจ์

 

ด้าน นายสกลกรย์ สระกวี ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานกรรมการ​ Bitkub Capital Group Holdings Co., Ltd กล่าวว่าเสนอสำนักงาน ก.ล.ต.ให้สั่งตรวจสอบทุกเอ็กซ์เชนจ์ว่ามีสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ครบจริงหรือไม่ หวังเรียกเชื่อมั่นนักลงทุนกลับคืน

‘Zipmex’ ทุบคริปโต นักลงทุนผวา จี้ ก.ล.ต. ดูแล หวั่นโดมิโนสินทรัพย์ดิจิทัล

“สิ่งที่ ก.ล.ต. ควรทำตอนนี้คือ สั่งตรวจสอบว่าแต่ละ Exchange มีทรัพย์สิน Digital assets อยู่ครบหมดจริงไหม ไว้อยู่ที่ไหนเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนไทย ใน Exchange ไทย Bitkub ยินดีให้ตรวจสอบ ยินดีช่วยเหลือ ก.ล.ต.ในการตรวจสอบ อย่างโปร่งใสครับ เพราะรายงานทุกอย่างที่เราส่งก.ล.ต. เป็นไปตามนั้นทั้งหมด ตรวจสอบได้”

 

โดยสินทรัพย์ทุกอย่างของ Bitkub ไม่มีตัวไหน ไม่มีบน Blockchain เราไม่ได้ฝากไว้กับ centralize exchange ใดๆ ที่จะแต่งตัวเลขบนฐานข้อมูล database ได้ ดังนั้น เมื่ออยู่บน blockchain มันตรวจสอบได้หมด”

 

กรุงศรี ฟินโนเวต ยันเดินหน้าลงทุน

 

นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด บริษัทร่วมลงทุน (CVC) ในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า จากคำแถลงการณ์ของ Zipmex นั้น กรุงศรี ฟินโนเวต ยังคงสัดส่วนการลงทุนต่อไป โดยได้ทำการลงทุน Zipmex เมื่อเดือน กันยายน ปี 2564 และถือหุ้นเล็กน้อยเพื่อศึกษาเทคโนโลยีต่างๆ และระบบแลกเปลี่ยน (Exchange) โดยมีการลงทุนไม่เกิน 1% หรือวงเงินหลัก 10 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดของกรุงศรี ฟินโนเวต

 

นอกจากนี้ภาพรวมของกรุงศรี ฟินโนเวตที่เข้าไปลงทุนใน Zipmex ประมาณ 2-3% ซึ่งเป็นการลงทุนโดยตรงจากกรุงศรีฟินโนเวต  มิได้เกี่ยวข้องกับการลงทุนจากกองทุน Finnoventure  Private Equity Fund แต่อย่างใด  ทั้งนี้ กองทุน Finnoventure Private Equity Fund จะไม่ลงทุนใดๆเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยังไม่อนุญาตให้ลงทุนหรือเสนอขายด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้น ปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบต่อลูกค้าของกรุงศรี ฟินโนเวต เพราะนโยบายการลงทุนของบริษัทจำกัดในด้านการศึกษาเทคโนโลยีและระบบโครางสร้างพื้นฐานเท่านั้น 

 

“ที่ผ่านมารอบที่ Zipmex ระดมทุน 1,300 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้กรุงศรี ฟินโนเวตเข้าไปลงทุนสัดส่วนไม่เกิน 1% มูลค่าหลัก 10 ล้านบาทเท่านั้น และโดยรวมกรุงศรี ฟินโนเวตมีสัดส่วนลงทุนรวมกันแล้วประมาณ 2-3% โดยยืนยันยังคงสัดส่วนลงทุนไว้เหมือนเดิม เพราะอยากศึกษาเทคโนโลยี หรือ โครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ แต่ไม่ได้ลงทุนด้านสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากแบงก์ชาติยังไม่อนุญาตให้ลงทุนหรือเสนอขายด้านสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้ว เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Zipmex จะหา solutions เพื่อให้นักลงทุนใน Zipmex ได้ดำเนินการอย่างปกติเร็วที่สุด ซึ่งทางกรุงศรี ฟินโนเวตพร้อมจะมีส่วนในการช่วยหาผู้ร่วมทุนใหม่หากมีโอกาส”

 

ก.ล.ต.สั่ง”ซิปเม็กซ์”แจงรายละเอียด

 

ขณะที่รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่าก.ล.ต. ได้มีหนังสือให้ บริษัท ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย จำกัด (Zipmex)  ชี้แจงรายละเอียดเหตุการณ์ที่บริษัทมีการประกาศระงับการถอนเงินบาทและสินทรัพย์ดิจิทัลให้อย่างครบถ้วนเนื่องจาก ข้อมูลที่ Zipmex ได้ชี้แจงมาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ยังขาดสาระสำคัญประกอบการพิจารณา

 

ล่าสุด ก.ล.ต.มีหนังสือสั่งให้ Zipmex ชี้แจงรายละเอียดของเหตุการณ์อย่างครบถ้วน ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินดิจิทัลของลูกค้าที่อยู่ภายใต้การดูแล และให้แสดงหลักฐานการนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่ฝากไว้ในโปรแกรม ZipUp ไปลงทุนในแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะ Celsius และ Babel Finance พร้อมทั้งให้บริษัทเปิดให้บริการระบบการซื้อขายและระบบฝากถอนทรัพย์สินดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการศูนย์ซื้อขายตามปกติ และจัดให้มีระบบการให้บริการติดต่อลูกค้าและจัดการเรื่องร้องเรียนได้อย่างเพียงพอมีประสิทธิภาพ