รัฐบาลใกล้ถึงทางตัน เงินช่วยเหลือหมด ลุ้นงบกลางก้อนสุดท้าย

02 ก.ค. 2565 | 22:30 น.

คลังเผยผลจัดเก็บรายได้รัฐ 8 เดือนปีงบ 65 สูงกว่าเป้า 1 แสนล้านบาท ผลจากการรีดภาษีสรรพากรพุ่ง จะนำเงินรายได้ส่วนเกินไปใช้ต้องออกกฎหมายเพิ่ม ชี้ทำงบกลางปียาก เวลาเหลือน้อย แถมเสี่ยงกระทบรายได้ทั้งปี

ราคาพลังงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาระบุว่า อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อขอใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในส่วนของงบกลาง มาใช้ในมาตรการเยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนในช่วงครึ่งปีหลัง

 

สำหรับรายจ่ายงบกลาง ในปีงบประมาณ 2565 มีเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 89,000 ล้านบาทที่จะสามารถนำมาใช้ได้ แต่จะสามารถใช้ได้แค่ไหนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะส่วนใหญ่จะสำรองไว้กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ใช้งบกลางมาหลายรายการแล้ว ส่วนจะเหลือวงเงินอยู่เท่าไหร่นั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ระบุว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นความลับ ขณะที่เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาทนั้น ขณะนี้เหลือเพียง 4.8 หมื่นล้านบาท

 ขณะที่การจัดเก็บรายได้รัฐบาลล่าสุด นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค.ระบุว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 64- พฤษภาคม 65) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,564,246 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 100,345 ล้านบาท หรือ 6.9% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.1%

 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค.

ส่วนที่ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปี งบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564-พฤษภาคม 2565) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1,509,499 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีงบประมาณก่อน 4.4% หรือ 64,272 ล้านบาท

 ด้านการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2,115,843 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 0.1% หรือ 2,974 ล้านบาท และรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 494,190 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.7% หรือ 8,620 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 ทั้งสิ้น 396,652 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 7.8% หรือ 28,754 ล้านบาท

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ตามหลักการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะถูกนำส่งเข้าบัญชีเงินคงคลังทั้งหมด ไม่สามารถดึงเงินส่วนนี้ออกไปใช้ได้ ซึ่งเงินรายได้แต่ละปีจะถูกนำไปตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีถัดไป โดยกำหนดชัดเจนว่า จะนำเงินไปใช้จ่ายในส่วนใดบ้าง ซึ่งตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2565 ได้ตั้งงบรายจ่ายไว้แล้วที่ 3.1 ล้านล้านบาท

 

แต่หากเกิดกรณีจำเป็นต้องใช้เงินคงคลังเพิ่ม จะต้องมีการออกกฎหมายหรือพ.ร.บ. รายจ่ายกลางปีเพิ่มเติม ซึ่งจากช่วงเวลาที่เหลืออีกเพียง 3-4 เดือนก็จะสิ้นสุดปีงบประมาณ การออกกฎหมายอาจไม่ทัน และแม้จะออกกฎหมายทัน ก็จะเป็นความเสี่ยงต่อรายได้รวมของรัฐบาลที่ตั้งไว้ในปีนั้นๆ ซึ่งในปีงบประมาณ 65 รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท

 

“รายได้รัฐจะเกินเป้าหรือไม่ หรือเกินแค่ไหน ต้องดูผลจัดเก็บทั้งปี สมมุติเห็นรายได้เกินปุ๊ป ก็ไปออกกฎหมายรายจ่ายกลางปีมาเพื่อดึงเงินที่เกินมาไปใช้ แต่ปรากฎเมื่อถึงปลายปีรายได้ของรัฐลดลง หรืออาจต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะไม่ใช่ฤดูเก็บภาษี ก็จะเสี่ยงต่อเป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้ทั้งปี และอาจไม่เพียงพอต่อการดึงไปใช้จ่ายตามกฎหมายที่ออกมาเพิ่ม” แหล่งข่าวกล่าว

 

ทั้งนี้รายได้รัฐที่สามารถจัดเก็บได้เกินเป้า ยังถูกนำไปพิจารณากับการกู้ชดเชยการขาดดุล เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 65 ที่ตั้งไว้ ในส่วนของรายจ่ายคือ 3.1 ล้านล้านบาท และรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนต่างที่เกิดขึ้น รัฐบาลจะต้องกู้เงินมาชดเชยการขาดดุล ซึ่งได้ตั้งกรอบการกู้ชดเชยการขาดดุลไว้ที่ 7 แสนล้านบาท ดังนั้นรายได้ที่เกินมา ก็จะทำให้การกู้ชดเชยขาดดุลลดลง

 

“การทำงบประมาณกลางปีอาจจะยาก แม้รัฐจะจัดเก็บรายได้เกินเป้าไป 1 แสนล้านบาท เพราะปีงบประมาณ 65 ที่ตั้งขาดดุล 7 แสนล้านนั้นเป็นการกู้เต็มเพดานที่กฎหมายกำหนด หากรายได้ที่เหลือพลาดเป้า โดยเฉพาะการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันว่าจะขยายเวลาออกไปอีกหรือไม่ ก็อาจจะทำให้การขาดดุลงบสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงของรัฐบาลที่ทำผิดกฏหมายได้”แหล่งข่าวกล่าว 

 

สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ช่วง 8 เดือนปีงบประมาณ 65 ของกรมภาษีสำคัญ พบว่า กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้รวม 1,249,062 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีงบประมาณก่อน 17.7% หรือ 187,540 ล้านบาท และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 14.5% หรือ 157,848 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจการบริโภคและมูลค่าการนำเข้า ซึ่งส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,797 วันที่ 3- 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2565