กองทุนน้ำมันฯ เสนอรัฐ ขอใช้งบกลางฯ เสริมสภาพคล่องรอเงินกู้

27 พ.ค. 2565 | 06:30 น.

“วิศักดิ์” เผยขอรัฐจัดสรรงบกลาง เสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ระหว่างรอกู้เงินจากสถาบันการเงิน ชี้ยังมีกระแสเงินสดเหลืออีก 1.2 หมื่นล้าน ใช้ได้อีก 1 เดือน ขณะที่สถานะกองทุนน้ำมันฯล่าสุดติดลบอยู่ 7.1 หมื่นล้านบาท

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์  ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงานฯ อยู่ระหว่างเดินเรื่องตามมาตรา 6 ในวงเล็บ 2  ที่ระบุให้รัฐบาลใช้วิธีจัดสรรงบประมาณกลางให้กองทุนน้ำมันฯ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น ในช่วงที่อยู่ระหว่างเจรจาขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน

 

หลังจาก ครม. อนุมัติให้กองทุนน้ำมันฯ สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้รวม 30,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของทางสถาบันการเงินกำลังพิจารณา แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้กระแสเงินสดของกองทุนฯ ยังเหลืออยู่ที่ 12,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอใช้ได้อีกอย่างน้อย 1 เดือน

“เราได้ยื่นเรื่องอย่างเป็นทางการเพื่อขอกู้เงินจากธนาคารออมสินแล้ว ในนามของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากเป็นนิติบุคคล ซึ่งสามารถกู้เงินได้ เชื่อว่าเรื่องยังอยู่ในกระบวนการขออนุมัติของบอร์ดธนาคาร ซึ่งต้องการความชัดเจนในเรื่องของแผนการชำระหนี้ของสำนักงาน แต่ในอดีตเราก็เคยกู้เงินและสามารถชำระคืนได้ภายใน 3 ปี” นายวิศักดิ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ปัจจุบันสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขณะนี้ ติดลบอยู่ 71,000 ล้านบาท จากการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ โดยตัวกองทุนน้ำมันฯ จะมีเงินไหลเข้าเฉลี่ย 2,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่มีเงินไหลออกเฉลี่ย 7,000 ล้านบาทต่อเดือน

 

ทำให้กองทุนติดลบอยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งขณะนี้ถือว่ากองทุนยังสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากมีกระแสเงินสดที่ฝากไว้ที่กระทรวงการคลังอีก 12,000 ล้านบาท

 

นายวิศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีนโยบายในการดูแลราคาน้ำมันดีเซล เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

 

แต่เนื่องจากราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ยังปรับตัวสูงต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 107 – 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งส่วนต่างที่รัฐบาลอุดหนุนให้ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7-9 บาทต่อลิตร หรือใช้เงินเฉลี่ย 10,000 ล้านบาทต่อเดือน

 

“ในสัปดาห์หน้าจะยังตึงให้ราคาดีเซลอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตรได้หรือไม่ ก็เป็นไปได้ แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ของตลาดโลกด้วย เพราะทุกครั้งที่สหรัฐ และ จีน มีการขยับตัว ก็จะกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่การดูแลราคาน้ำมันหลังสิ้นสุดมาตรการรัฐจะเป็นอย่างไรนั้น คงจะขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย” นายวิศักดิ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีการใช้น้ำมันดีเซลในประเทศ เฉลี่ย 66 ล้านลิตร/วัน โดยกองทุนน้ำมันต้องใช้เงินอุดหนุนลิตรละ 6.50 บาท ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ประเทศจีนคลาย lockdown 

 

วันเดียวกันกรมสรรพสามิตและสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ในการเชื่อมโยงข้อมูลการนำส่งเงิน และการรับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมัน  ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

 

ทำให้การนำส่งเงินให้กองทุนและการรับเงินชดเชยจากกองทุน ของผู้ประกอบการในธุรกิจพลังงาน ทำได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิมที่ต้องตรวจสอบเอกสารการส่งเงินและการรับเงิน ที่มีเป็นจำนวนมาก หรือจากใช้เวลาเป็นเดือน ก็จะใช้เวลาเพียง 1-2 วัน ซึ่งยังส่งผลดีต่อสภาพคล่องของบริษัทน้ำมัน เพราะจะได้รับเงินคืน หรือเงินชดเชยราคาน้ำมันจากกองทุนน้ำมันฯ ได้เร็วขึ้น

 

MOU เชื่อมโยงข้อมูลการนำส่งเงิน และการรับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมัน  ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

 

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ทำให้กรมฯ สูญเสียรายได้จากภาษีน้ำมันดีเซล รวม 3.7 หมื่นล้านบาท 

 

ส่งผลให้เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในปีนี้ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5.9 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อหักรายได้ที่สูญเสียไปจากการลดภาษีน้ำมันดีเซลแล้ว คาดว่าจะเหลือ 5.5 แสนล้านบาท

 

แต่อย่างไรก็ตามด้วยภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ในสิ้นปีงบประมาณนี้ หรือสิ้นเดือนกันยายน 65 อาจเก็บได้เพียง 5.1 แสนล้านบาท ถึง 5.3 แสนล้านบาทเท่านั้น  ทั้งนี้กรมสรรพสามิต มีสัดส่วนของรายได้จากภาษีน้ำมันมากที่สุด ประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี  รองลงมาคือ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และภาษีสรรพสามิตสุราและเบียร์