คลัง เร่งสรุป “มาตรการลดค่าครองชีพเพิ่ม” ภายในสัปดาห์หน้า

13 มิ.ย. 2565 | 03:45 น.

“อาคม” เร่งหารือ “สภาพัฒน์” สรุปแนวทางมาตรการลดผลกระทบโควิด-ราคาพลังงาน ภายในสัปดาห์ที่ 3 เดือน มิ.ย.นี้ ย้ำเน้นช่วยเฉพาะกลุ่ม พร้อมชะลอ “คนละครึ่งเฟส5” เหตุงบมีจำกัด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ระหว่างการหารือ เพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 และราคาพลังงาน โดยรูปแบบจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิ.ย.นี้

"ช่วงที่โดนโควิดกระทบ รายได้ไม่มีเพราะล็อกดาวน์ มีผลกระทบต่อกำลังซื้อ แต่ช่วงราคาน้ำมันสูง ประชาชนยังมีรายได้ แต่กำลังการเติมน้ำมัน การใช้จ่ายน้อยลง จึงต้องช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ ก็จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก ดังนั้น มาตรการที่เหวี่ยงแหแบบทั่วไปก็คงลดน้อยลง” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ขณะที่โครงการคนละครึ่ง เฟส 5 นั้น ต้องชะลอออกไปก่อน เนื่องจากใช้งบค่อนข้างมาก เพราะต้องช่วยเหลือในกลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วย และการดำเนินมาตรการที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำ แต่ใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้นการใช้เงินต้องมีเหตุผล

 

"ความจำเป็นที่จะใช้มาตรการในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นกลับเข้ามา จะต้องเน้นทำให้ถูกฝาถูกตัวมากขึ้น จะใช้จ่ายเหมือนเดิมไม่ได้ ซึ่ง พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท อาจจะไม่เพียงพอ เพราะการใช้งบประมาณในการออกมาตรการแต่ละครั้งสูงถึง 3-5 หมื่นล้านบาท" นายอาคม กล่าว

 

นายอาคม กล่าวอีกว่า ในช่วงโควิด-19 รัฐบาลได้รับหนี้จากการออก พ.ร.ก. กู้เงิน 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท ส่งผลทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น ก็ต้องมาดูในเรื่องของการปรับนโยบายทางการคลังให้เข้าสู่ภาวะปกติ

 

เช่น การหารายได้เพิ่ม ซึ่งทุกประเทศก็มุ่งไปในแนวทางเดียวกัน พร้อมย้ำ วงเงินจาก พ.ร.ก. ได้นำเงินไปใช้เพื่อเยียวยา 6.6 แสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลสามารถช่วยเหลือประชาชนได้จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33, 39, และ 40 ที่เป็นอาชีพอิสระ