สินเชื่อดิจิทัลคึกคัก 9 รายแห่ชิงแชร์ ช่วยรายเล็กเข้าถึงทุน

29 พ.ค. 2565 | 10:37 น.

สินเชื่อดิจิทัลคึกคัก “ไทยพาณิชย์ควบบริษัทลูก “มันนิกซ์” ปูพรมเสิร์ฟสินเชื่อดิจิทัล-พีโลน เจาะกลุ่มลูกค้าอาชีพอิสระ หลังธปท.อนุมัติผู้ประกอบการแล้ว 9 ราย พบยอดสินเชื่อคงค้างเกือบ 5 พันล้านบาท

 รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ถึงความคืบหน้าธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan)หรือ สินเชื่อพีโลนว่า สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ประกอบธุรกิจได้รับอนุมัติแล้ว 9 รายคือ

 

  1. บริษัท ซีมันนี่(แคปปิตอล) จำกัด
  2. บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด
  3. บริษัท จีฟิน เซอร์วิสเซส(ที) จำกัด
  4. บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน)
  5. บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด
  6. บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน)
  7. ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน)
  8. บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด
  9. ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.กล่าวว่า ในจำนวนผู้ได้รับอนุมัติทั้ง 9 รายนั้นมีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจแล้ว 5 ราย โดยกระจายสินเชื่อสู่ลูกหนี้รายเล็ก ยอดสินเชื่อเฉลี่ย 5,000 บาทต่อราย และมียอดคงค้างสินเชื่อ ณเดือนกุมภาพันธ์ที่ 4,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นไม่สูงมากจากเดือนมกราคม ขณะเดียวกันยังมีผู้ประกอบการอีก 3 รายที่ยังไม่เปิดดำเนินการ และอีก 1 รายอยู่ระหว่างพัฒนาโมเดลธุรกิจ จึงยังไม่ได้รับใบอนุญาต

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

ขณะเดียวกันยังมีผู้ประกอบการอีก 3 รายที่ยังไม่เปิดดำเนินการ และอีก 1 รายอยู่ระหว่างพัฒนาโมเดลธุรกิจ จึงยังไม่ได้รับใบอนุญาต

 

ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Digital Banking ธนาคาร ไทยพาณิชย์เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มียอดการขอสินเชื่อดิจิทัลเข้ามาเกือบ 2 ล้านคน เป็นยอดสินเชื่อทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท โดยภายในสิ้นปีนี้ตั้งเป้าว่า จะมียอดสินเชื่อดิจิทัลทั้งหมด 22,000 ล้านบาท

ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Digital Banking ธนาคาร ไทยพาณิชย์

ไตรมาสที่เหลือ ธนาคารมีแผนจะนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ๆ อีกหลายผลิตภัณฑ์ เพื่อมุ่งแก้ปัญหา Pain point ให้กับลูกค้าที่ไม่มีรายได้ประจำหรือประกอบอาชีพอิสระให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ได้มากยิ่งขึ้นและคาดว่า จะได้รับการตอบรับอย่างดี

 

ทั้งนี้เป้าหมายของ SCB DBANK คือ พยายามเพิ่ม financial inclusion ให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้ารายวัน ที่ไม่มีเอกสารหลักฐานทางการเงิน ซึ่งมีประมาณ 10 ล้านคน ธนาคารต้องการช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้แก่ลูกค้าเหล่านี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเริ่มสร้างเครดิตทางการเงินกับธนาคารได้ด้วยตนเอง

 

“ธนาคารมีการดูแลและเฝ้าระวังการผิดนัดชำระของลูกค้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีการปรับปรุงโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เพื่อให้สามารถติดตามและเสนอโปรแกรมช่วยเหลือลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19” ดร.ชาลีกล่าว

 

นางสาวถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ จำกัดกล่าวว่า 4 เดือนแรกของปีนี้ มันนิกซ์ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท โดยทั้งปีคาดว่า จะปล่อยสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท จากความต้องการสินเชื่อในช่วงที่เหลือจะสูงขึ้นมากกว่าช่วงปีก่อนอย่างชัดเจน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มผ่อนคลายลง ทำให้เกิดความต้องการหาเงินทุนหมุนเวียน

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นและผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยาวนานและขยายวงกว้างมากขึ้น บริษัทได้พิจารณาปรับนโยบายการอนุมัติสินเชื่อใหม่ให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ปลายไตรมาสแรกของปี 2565 เป็นต้นมา โดยมุ่งหวังจะควบคุมคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อและติดตามคุณภาพของลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกต่างๆ

สินเชื่อดิจิทัลคึกคัก 9 รายแห่ชิงแชร์ ช่วยรายเล็กเข้าถึงทุน

ด้านคุณภาพสินเชื่อ ปัจจุบันยังควบคุมอัตราหนี้เสียในระดับตัวเลขหลักเดียวได้ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ประกอบกับผลกระทบตามวัฏจักรที่ในช่วง เม.ย-พ.ค ของทุกปี มีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าบ้าง โดยบริษัทได้มีการติดตามหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อควบคุมให้อัตราการผิดนัดชำระให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ขณะเดียวกันมันนิกซ์ได้ออกแคมเปญ “คนทำมาหากินฟินติดปีก” โดยจับมือ แพลตฟอร์มชั้นนำของประเทศ เช่น ฟู้ดแพนด้า (foodpanda) และบีนีท (BeNeat) ต่อเนื่องมาจากเดือนเมษายน โดยตั้งเป้าหมายช่วยสร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้คนทำมาหากินทั่วไทย ลูกค้าของฟินนิกซ์สามารถสมัครเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ไรเดอร์ หรือแม่บ้าน ผ่านทางแอปฟินนิกซ์ พร้อมรับสิทธิพิเศษต่างๆ ทั้งการฝึกอบรม สวัสดิการ และโบนัสพิเศษที่มีในแอปฟินนิกซ์ที่เดียว ทำให้ทำมาหากินได้คล่อง ปลดล็อกเรื่องเงินให้ไม่สะดุด เราคาดว่าจะมีคนทำมาหากินร่วมแคมเปญไม่น้อยกว่า 5,000 คนทั่วประเทศ

 

“มันนิกซ์มองว่า การสร้างงาน เสริมรายได้ให้ลูกค้าจะช่วยเพิ่มแข็งแรงด้านการเงินให้สูงขึ้น และที่สำคัญคือทำให้ลูกค้าสามารถมีกระแสเงินสดเข้ามาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในครอบครัว รวมทั้งสร้างเครดิตที่ดีขึ้นจากรายได้ที่มีเข้ามาเพิ่มด้วย” นางสาวถิรนันท์ กล่าว

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,781 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565