เนสท์ติฟลาย ตั้งเป้าปี 65 ปล่อยสินเชื่อ P2P 2,000 ล้านบาท

07 ม.ค. 2565 | 04:20 น.

เนสท์ติฟลายพร้อมให้บริการ P2P เต็มตัวปี 65 หากธปท.ไฟเขียว ตั้งเป้าทั้งปีปล่อยสินเชื่อ 2,000 ล้านบาท หลังพบช่วงทดสอบมีลูกค้าติดต่อเข้ามาแล้ว 33 ล้านบาท แจงใช้หุ้น SET100 เป็นหลักประกัน

การกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านแพลตฟอร์มหรือผู้ให้บริการระบบเครือข่ายอิเล็กส์ที่เป็นตัวกลางสนับสนุนการก่อให้เกิดการกู้ยืมระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ (Peer to Peer Lending Platform: P2P) เป็นการจับคู่ระหว่างผู้ที่ต้องการกู้เงินและผู้ที่ต้องการให้กู้ จะเป็นรููปแบบการกู้ยืมใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนการกู้ยืมผ่านสถาบันการเงินแบบเดิมๆ 

 

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ3 รายที่อยู่ระหว่างการทดสอบใน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ ​บริษัท ดีพสปาร์คส์ เพียร์ เลนดิ้ง จำกัด  บริษัท เนสท์ติฟลาย จำกัด​ และ บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จำกัด ซึ่งธปท.มีการปรับรูปแบบ วิธีการไปในช่วงเกิดโควิด-19 และคาดว่า ปีนี้อาจจะมีบางรายออกจากการทดสอบใน Regulatory Sandbox

นายปพนธ์ มังคละธนะกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท เนสท์ติฟลาย จำกัด (NestiFly) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น Share Loan เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากได้รับใบอนุญาตจากธปท. บริษัทสามารถทำธุรกิจได้เต็มตัวในปี 2565 โดยตั้งเป้าจะขยายพอร์ตสินเชื่อเป็น 2,000 ล้านบาท เพราะระหว่างทดสอบการทำตลาด มีลูกค้าตอบรับเข้ามาขอสินเชื่อ 33 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 4.75-6.0% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราต่ำเมื่อเทียบกับการปล่อยสินเชื่อในระบบ

 

เนสท์ติฟลาย ตั้งเป้าปี 65  ปล่อยสินเชื่อ P2P 2,000 ล้านบาท

“ช่วงนี้ยังเป็นการจำกัดวงทดสอบ มีนักลงทุนสนใจนำเงินมาปล่อยกู้เกือบ 20 ราย โดยกลุ่มผู้กู้ประกอบอาชีพอิสระทำธุรกิจไม่ใหญ่โตมาก วงเงินเบื้องต้นกำหนดแค่ 5 ล้านบาท แต่ตามกฎหมายสามารถปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยอนุมัติวงเงินกู้ 50% ของหลักประกัน” นายปพนธ์ กล่าว

ทั้งนี้ NestiFly เป็นบริษัทผู้ให้บริการสินเชื่อและการลงทุนในรูปแบบ P2P โดยนำเงินลงทุนของนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนไปปล่อยกู้ให้กับบุคคลที่ต้องการเงินกู้ ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนปล่อยกู้ที่มีเงินทุนโดยทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้จะทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ 100% โดยไม่เจอหน้ากันเลย

 

กลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ผลิต ภัณฑ์ของ NestiFly นั้น จะต้องเป็นคนที่มีหุ้น SET100 ถือครองอยู่ไม่น้อยกว่า 2-3 ปี อาจจะลงทุนในหุ้นมานาน แต่ไม่อยากขายหุ้นออกไป สามารถเก็บไว้กินเงินปันผล หากต้องการใช้เงินสามารถนำหุ้นในพอร์ตมาเป็นหลักประกันเพื่อนำเงินไปทำธุรกิจ ที่สำคัญต้องรู้ว่า จะมีเงินในอนาคต 3-6 เดือนข้างหน้า เพราะ NestiFly จะกำหนดสัญญาการชำระเงินคืนเป็นแบบระยะสั้น ไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งหากผู้กู้นำเงินมาชำระคืนตามสัญญา ก็สามารถกลับมาขอสินเชื่อใหม่ แต่ไม่สามารถกู้เงินเพื่อ Rollover ได้

 

“ปพนธุ์” อธิบายเพิ่มเติมว่า NestiFly มองเห็นโอกาสในการทำตลาด P2P ที่ยังมีอีกมาก โดยเฉพาะตลาดรายย่อย ซึ่งมีบุคคลที่ถือครองหุ้นในมือไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน และมูลค่าหุ้นที่ถือครองราว 7-8 แสนล้านบาท โดยนักลงทุน รายย่อยกลุ่มนี้คาดหวังเงินปันผลจากการลงทุนในหุ้น จึงมีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ที่สามารถใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้ ขณะเดียวกันแนวโน้มของบุคคลที่เปิดบัญชีซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย 

 

สำหรับกระบวนการทดสอบนั้น ในแง่ของ P2P ทางธปท.จะกังวลใน 2-3 เรื่อง คือ 1.โมเดลของการวิเคราะห์ความเสี่ยงแต่ละมิตินั้นเป็นอย่างไร เช่น สามารถมองเห็นความเสี่ยงชัดเจนแค่ไหน 2.ศักยภาพที่เข้มแข็งเพียงไร ในหลักการคือ สามารถคาดการณ์แม่นยำขนาดไหน เพราะข้อมูลตรงนี้มีความสำคัญมาก สำหรับนักลงทุนที่ต้องการนำเงินมาปล่อยกู้เพื่อจะตัดสินใจได้ถูต้องแม่นยำ และ 3.เทคโนโลยีที่นำมาทำงานเกิดประสิทธิภาพตามมาตรฐานที่วางไว้ โดยเฉพาะเรื่องระบบความปลอดภัยของเครือข่าย

 

“NestiFly เป็นตัวกลางระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้ โดยให้บริการผ่านแพลตฟอร์มแรกชื่อ Share Loan เบื้องต้นยังเป็นการทดลองภายในกลุ่มที่จำกัดเฉพาะกลุ่มเพราะธปท.ต้องการให้แน่ใจในโมเดลของการวิเคราะห์ความเสี่ยง ก่อนที่จะอนุญาตให้ออกจากแซนด์บ๊อกสามารถบริการลูกค้าในเวทีสาธารณะได้” นายปพนธ์ุ กล่าว

 

ในแง่ของผลตอบแทนจากการปล่อยกู้นั้น NestiFly จะมีรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ย เช่น ต้นทุนรวมดอกเบี้ยสูงสุด 6.0% ในจำนวนนี้จะเป็นค่าธรรมเนียมของ NestiFly 1.5-2% ส่วนผู้ปล่อยกู้จะได้รับผลตอบแทนประมาณ 3.25-4.0% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในตลาด แม้ประเภทหุ้นกู้ ที่อายุ 5 ปี จ่ายผลตอบแทนเพียง 3.0% เท่านั้น อีกทั้ง NestiFly เป็นการลงทุนระยะสั้นแค่ 6 เดือน

 

สำหรับแนวทางป้องกันความเสี่ยง “ปพนธ์” กล่าวว่า การควบคุมคุณภาพนั้นสำคัญมาก โดยต้องมีกระบวนการคัดกรองประวัติเครดิตก่อนเพื่อดูประวัติและพฤติกรรมของผู้กู้ จากนั้นพิจารณาการเคลื่อนไหวของหุ้นในพอร์ตแต่ละตัวและตัดในส่วนหุ้นที่มีความสุ่มเสี่ยงออกก่อน ซึ่งจะมีการปรับข้อมูลทุก 3 เดือน และ run ข้อมูลทุกๆ เดือน

 

 “การจะรับหรือไม่รู้หลักประกันนั้น ต้องพิจารณาการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเทียบราคาจากอดีต ปัจจุบันและแนวโน้มรวมถึงอุตสาหกรรมเพื่อให้หุ้นที่จะรับเข้ามาเป็นหลักประกันมีความเสี่ยงต่ำที่สุด สุดท้ายถ้ากู้ไปแล้วราคาหุ้นไปในระดับหนึ่ง เราจะให้ผู้กู้ชำระคืนเงินกู้บางส่วน เพื่อให้ความเสี่ยงลดลง”

 

ทั้งนี้ หากราคาหุ้นตกมากไม่มีเสถียรภาพ จะบังคับขาย ซึ่งความเสี่ยงของผู้ให้กู้แทบจะเป็นศูนย์ ขณะเดียวกันต้องมีสัญญาเงินกู้จะอยู่ในรรูปสมาร์ทคคอนแทรก เพื่อให้แน่ใจไม่มีใครสามารถแก้ไขสัญญา หรือมีคำสั่งมั่วแล้วนำเงินออกมา ขณะที่หุ้นซึ่งเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจะนำไปจดทะเบียนจำนำกับบริษัทหลักทรัพย์ทำหน้าที่คัสโตเดียนด้วย 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,747 วันที่ 9 - 12 มกราคม พ.ศ. 2565