สศช.ย้ำเหลือเงินกู้ 4.8 หมื่นล้านบาท เขียมเบิกจ่ายถึงสิ้นปี

18 พ.ค. 2565 | 12:11 น.

สศช.ปรับลดคาดการณ์ เศรษฐกิจไทยปี 65 เหลือโต 3.0% เหตุแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอ ย้ำจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไร ต้องรอบคอบและเหมาะสม เหตุงบมีจำกัด เงินกู้ 5 แสนล้านบาทเหลือเพียง 4.8 หมื่นล้านบาท เบิกจ่ายได้ถึงสิ้นปี

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2565 โดยคาดว่า จะขยายตัวในกรอบ 2.5-3.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.0% จากเดิมค่ากลางอยู่ที่ 4.0% ของคาดการณ์ขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.5-4.5% หลังจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ขยายตัว 2.2% ต่อเนื่องจาก 1.8% ในไตรมาส 4 /2564

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในรอบนี้ ได้ปรับลดลงทุกตัว โดยเฉพาะสัญญาณจากเศรษฐกิจโลก น่าจะขยายตัว 3.5% จาก 4.5% เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา 3.6% ยุโรป 2.8% ญี่ปุ่น 2.2% และจีน 4.3% ซึ่งมีสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนขณะนี้ ขณะที่ปริมาณการค้าโลกขยายตัว 4.7% ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาททั้งปีนี้เชื่อว่า น่าจะอยู่ในกรอบ 33.30-34.30 บาทต่อดอลลาร์ แม้ว่าบางช่วงจะทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์ก็ตาม

ส่วนจะมีมาตรการ คนละครึ่งเฟส5 ออกมาดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่นั้น นายดนุชากล่าวว่า จะต้องดูในแง่ความจำเป็นของมาตรการนี้ และประเมินร่วมกับการบริโภคและกำลังการใช้จ่ายของประชาชนด้วย ซึ่งสศช.จะต้องมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกครั้ง ซึ่งหากจะมีมาตรการดังกล่าว จะต้องออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีเม็ดเงินจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท คงเหลือประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท แต่ยังมีภาระที่ต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มเติมจาก 2 โครงการคือ โครงการเศรษฐกิจฐานราก ที่ยังรอใช้วงเงินอยู่ 1 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ของสปสช.อีก 1.7 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น จึงคงเหลือเม็ดเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องอนุมัติภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 และสามารถใช้จ่ายต่อได้ถึงสิ้นปีนี้ ดังนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า โครงการที่จะดำเนินการต่อไปจะทำอย่างไรบ้าง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

ส่วนจะมีการกู้เงินเพิ่มเติม เพื่ออัดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจหรือไม่นั้นมองว่า การที่จะกู้เงินเพิ่มเติม หรือใช้มาตรการคลังลักษณะใด ต้องดูปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ รวมทั้งทรัพยากรในประเทศที่มีอย่างจำกัดด้วย โดยเฉพาะฐานะการคลังในระยะถัดไป

 

ทั้งนี้หน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และ ธปท. จะต้องหารือร่วมกันอย่างรอบครอบถึงความจำเป็น และสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้เป็นผลกระทบซ้อนกันมาจากโควิด ซึ่งการกู้เงินอัดเข้าเศรษฐกิจต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสม

 

นอกจากนี้ภาวะหนี้ครัวเรือน ยังเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ในเวลารวดเร็ว เพราะเป็นปัญหาสะสมและเป็นปัญหาที่เกิดในหลายประเทศ ส่วนธปท. พยายามดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนและครัวเรือน ซึ่งแนวโน้มคงจะต้องเร่งช่วยเหลือต่อเนื่องในลักษณะเฉพาะครัวเรือนเฉพาะกิจการ ไม่เช่นนั้นจะเกิด Moral Hazard

 

“จริงๆที่ผ่านมา การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้นมีความก้าวหน้า ได้รับการแก้ไขลดลงต่อเนื่องจาก 6 ล้านบัญชี โดยในการแก้ปัญหาพยายามยืดการชำระออกไปเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจมีสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายและดำเนินธุรกิจได้” นายดนุชากล่าว

 

ส่วนข้อเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาทนั้น เลขาธิการสศช.ระบุว่า อัตรา 492 บาทเป็นข้อเสนอภาคแรงงาน ส่วนจะปรับเพิ่มต้องพิจารณาหลายปัจจัย ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังเปราะบางฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มอาจต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งอัตรานั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการไตรภาคี ส่วนใหญ่พิจารณาเงินเฟ้อและค่าพรีเมียม

 

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลั กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ขยายตัว 2.2% โดยการบริโภคขยายตัวกว่า 3.9% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4% ถือว่า การใช้จ่ายเริ่มกลับมาดีขึ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนจะดำเนินโครงการ คนละครึ่งเฟส5 ต่อหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาระดับการบริโภคของประชาชนด้วย ขณะที่พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีวงเงินเหลืออยู่ 4.8 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้เป็นผู้ดูแล