วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ถล่มเศรษฐกิจไทย เรื่องไหนหนักสุด ตั้งรับยังไงให้รอด

18 พ.ค. 2565 | 10:43 น.

สศช. เปิดผลวิเคราะห์ ผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เศรษฐกิจไทยได้รีบผลกระทบมากแค่ไหน เรื่องไหนหนักที่สุด พร้อมแนะนำแนวทางการตั้งรับยังไงให้รอด กับวิธีการบริการเศรษฐกิจในปี 2565

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยผลการวิเคราะห์ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งจนกลายเป็นวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น นับตั้งแต่รัสเซียได้เริ่มเข้าปฏิบัติการทางการทหารในยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 

 

ไม่เพียงแต่สร้างความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้ต่อชีวิตของประชาชนและทรัพย์สินมากมายมหาศาลของทั้งสองประเทศ แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังได้ส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อระบบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากทั้งวิกฤตโรคโควิด-19 และวิกฤตราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น

 

โดยได้ส่งผลให้ระดับราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยเร่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

 

ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งดังกล่าวยังนำไปสู่การดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของหลายประเทศผ่านในรูปของมาตรการทางการเงินการธนาคาร มาตรการทางการค้าและการประกอบการธุรกิจ ล่าสุดการประกาศยกเว้นการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย และนำไปสู่การดำเนินมาตรการตอบโต้ของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ผลกระทบของความขัดแย้งต่อเศรษฐกิจไทย สามารถสรุปได้ 4 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 

 

1. ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น 

 

ได้แก่ ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และราคาในหมวดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกหลักทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร อาทิ ปุ๋ยเคมี ข้าวสาลี ข้าวโพด รวมถึงสินแร่อื่น ๆ (แพลเลเดียมและนิกเกิล) ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและระดับราคาสินค้าสูงขึ้น และเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ 

 

2.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก 

 

แบ่งเป็นผลกระทบทางตรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจรัสเซียและยูเครน และผลกระทบทางอ้อมจากการชะตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักโดยเฉพาะสหภาพยุโรปหากมาตรการคว่ำบาตรทวีความรุนแรงและกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวของไทย 

 

3.ความผันผวนของตลาดการเงินโลก

 

เนื่องจากการลดลงของความเชื่อมั่นของนักลงทุนจนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุน เห็นได้จากการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์สำคัญทั่วโลก ขณะเดียวกันธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นจนอาจส่งผลต่อสภาพคล่องในตลาดและความผันผวนของตลาดการเงินโลก 

 

4.การหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตโลก

 

ท่ามกลางสถานการณ์การความขัดแย้งที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงและหากมีแนวโน้มยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตโลกและต้นทุนการผลิตทั้งในด้านการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าภาคอุตสาหกรรม

 

รวมถึงภูมิทัศน์การเมือง และการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการซ้ำเติมปัญหาห่วงโซ่การผลิตที่ยังคงยืดเยื้อ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมและเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

ผลกระทบจากความขัดแย้งรัสเซียและยูเครนต่อเศรษฐกิจไทย

 

อย่างไรก็ตาม สศช. ได้แนะนำแนวทางการตั้งรับ โดยเฉพาะการบริหารเศรษฐกิจในปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ 

 

1.การรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ประกอบด้วย

  • การติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 
  • การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน 
  • การดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต 
  • การดูแลกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า 

 

2.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง ประกอบด้วย

  • การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ 
  • การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง 
  • การพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจ 
  • การยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน 

 

3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า ประกอบด้วย

  • การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักและการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน 
  • การพัฒนาสินค้าส่งออกให้มีคุณภาพและมาตรฐาน 
  • การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และการเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ 
  • การปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต 

 

4.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ประกอบด้วย

  • การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง 
  • การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ 
  • การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก
  • การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ 
  • การลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ๆ 
  • การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น 

 

5.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 

 

6.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ประกอบด้วย

  • การบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมเพื่อเตรียมการรองรับฤดูกาลเพาะปลูก 
  • การบรรเทาผลกระทบจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 

 

7.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก