"กกร."คง "จีดีพี" 65 โต 2.5-4% ชี้ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับสูง

11 พ.ค. 2565 | 06:54 น.

"กกร."คง "จีดีพี" 65 โต 2.5-4% ชี้ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะด้านเงินเฟ้อและต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น แม้ท่องเที่ยวจะดีขึ้นกว่าประมาณการเดิม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติ คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 หรือจีดีพี (GDP)จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.5% ถึง 4.0% ในกรอบเดิม 

 

หากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในระดับที่เหมาะสม และคงประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะยังขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.5% ถึง 5.5%

 

ทั้งนี้ กกร. มมอว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความอ่อนไหวจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน เป็นความท้าทายต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเงินเฟ้อในระดับสูง และการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยล่าสุด Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นมากสุดในคราวเดียวในรอบ 22 ปี และจะปรับขึ้นต่อเนื่องไปถึง 2.50%-2.75% ณ สิ้นปี 

นอกจากนี้ จีนยังใช้มาตรการ Zero Covid Policy ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัว และกดดันให้ปัญหาซัพพลายเชนยิ่งตึงตัวขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2022 ลดลงมากจาก 4.4% เหลือ 3.6% ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าส่งออกของไทยได้

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเดิม

 

"กกร."คง "จีดีพี" 65 โต 2.5-4%

 

 

หากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นมาก จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อไทยที่พุ่งสูงขึ้นเริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน และมีแนวโน้มส่งต่อลบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจที่ยังเปราะบาง อาทิ โรงแรม ค้าปลีก สะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนมีผลกระทบมากและส่วนใหญ่อาจจำเป็นต้องปรับราคาสินค้า การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำในระยะข้างหน้าซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับ 5% จึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและอยู่ในระดับที่เหมาะสม 

การท่องเที่ยวมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น การเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ค. ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มีแนวโน้มอยู่ที่ประมาณ  6 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าประมาณการเดิม

 

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีมาอยู่ที่ 70-80% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 เนื่องจากนักท่องเที่ยวในไทยปรับตัวอยู่กับโควิด-19 บ้างแล้ว อีกทั้งได้อานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ 119 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าประมาณการเดิมเช่นกัน

 

"เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะด้านเงินเฟ้อและต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น แม้แนวโน้มการท่องเที่ยวจะดีขึ้นกว่าประมาณการเดิม ความเสี่ยงในระดับสูงทำให้ที่ประชุม กกร. คงประมาณการจีดีพีดังกล่าว "