“สมคิด” แนะรัฐรับมือ ”สงคราม-โควิด” ลากยาวฉุดเศรษฐกิจ

18 พ.ค. 2565 | 02:31 น.

“สมคิด”แนะรัฐวางแผนรับมือสงครามรัสเซีย-ยูเครน และ โควิด-19 คาดลากยาวกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงสังคมและการเมือง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคสร้างอนาคตไทยโพสต์เฟซบุ๊คผ่านเพจ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ถึงการเตรียมรับมือกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามรัสเซียและยูเครน และโควิด ที่ยังไม่ยุติลงง่ายๆ
 

นายสมคิด กล่าวว่า นาทีนี้โลกเผชิญกับความเสี่ยง มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทั้งจากเรื่องของโควิด-19 ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน เมฆหมอกความไม่แน่นอนมีมากขึ้นทุกวันจินตนาการถึงอนาคตยากมาก ทุกฝ่ายต้องเตรียมตัว โดยเฉพาะผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ต้องคิดวางแผนล่วงหน้าเสมอ
 

“ยกตัวอย่างเรื่องโควิด-19 ที่ไม่ได้ยุติลงได้ง่าย แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปมากแล้ว ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมากมาย และกระทบกับฐานะการเงินการคลังของทุกประเทศ เกือบทุกประเทศตัดสินใจว่าไม่สามารถล็อกดาวน์ แต่ก็ต้องมีการบริหารจัดการให้ดี ตอนนี้มีแค่ประเทศจีนประเทศเดียวที่มีความพร้อมที่จะสู้ได้ ขณะที่ประเทศไทยก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจจะทนอยู่กับโควิด-19”

 

 

 

 

ส่วนสงครามในยูเครน ไม่น่าจะยุติได้ง่าย เป็นสงครามที่มีความประสงค์และความมุ่งมั่นของฝ่ายต่างๆ ไม่มีใครรู้ว่าสงครามใหญ่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ยูเครนเป็นแค่หมากตัวแรกอำนาจเดิมยังไม่ยอมที่จะลดลง ส่วนอำนาจใหม่นั้นจะพยายามมีอำนาจขึ้นมา ปัจจุบันเริ่มขยายวงไปยังสวีเดนและฟินแลนด์ ที่พยายามจะเข้าสู่นาโต้ กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ตามมา ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาวะสงครามและโควิด เกิดภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร พลังงาน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั้งโลก 
 

นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้ว ยังจะตามมาด้วยเรื่องของปัญหาสังคมและการเมือง หลายประเทศเกิดจลาจลวุ่นวาย เนื่องจากคนยากจนได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อรัฐบาลดูแลไม่ได้ก็จะเกิดปัญหาตามมา เช่น ที่บราซิล ศรีลังกา และการเปลี่ยนแปลงการเมืองที่ฟิลิปปินส์

นายสมคิด ยังโพสต์ด้วยว่า ในวันนี้ญี่ปุ่นกำลังเดินหน้าสู่การเป็นสังคม 5.0 โดยจะใช้เทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ต และ Internet of Things (IOT) การใช้บิ๊กดาต้ามาเปลี่ยนสังคม ทั้งสังคมจะถูกเชื่อมโยงด้วยข้อมูลข่าวสาร เพื่อนำไปวิเคราะห์แก้ไขปัญหาต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด 
 

อาทิ การวิเคราะห์กระบวนการรักษาทางการแพทย์ เพื่อรักษาคนไข้ได้ตรงจุด การวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ถนน เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน เมื่อเป็นเช่นนี้ เชื่อว่าอนาคตข้างหน้าบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยจะถูกเปลี่ยนเป็น 5.0 อย่างแน่นอน