ธปท.ชี้ช่องธุรกิจ ใช้ประโยชน์จาก “Metaverse-บลอคเชน”

20 เม.ย. 2565 | 11:14 น.

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย ชี้ช่องภาคธุรกิจใช้ประโยชน์จาก Metaverse “ทำพีอาร์หาลูกค้าใหม่-สร้างประสบการณ์ให้ฐานลูกค้าเก่า/ใช้บลอคเชนทำธุรกิจรูปแบบใหม่” ชูผลวิจัยMetaverseกับระบบเศรษฐกิจและความคุ้มค่าในการลงทุน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ) จัดงาน PIER Research Brief ครั้งที่ 1/2565 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป่วย  อึ้งภากรณ์ " 5 ประเด็นที่น่าจับตามองเกี่ยวกับ Metaverse" โดยมีผู้ร่วมบรรยาย ประกอบด้วย   ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ รองศาสตราจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เมื่อวันที่ 20เมษายน 2565  

 

ธปท.ชี้ช่องธุรกิจ  ใช้ประโยชน์จาก “Metaverse-บลอคเชน”

ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า Metaverse กับระบบเศรษฐกิจนั้น  ปัจจุบันเมืองที่เปิดให้เข้าได้แล้วและเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางคือ The Sandbox กับ Decentraland จากความพยายามของนักพัฒนากำลังสร้างโลก Metaverse ขึ้นมาหลายแห่ง  ส่วนนักพัฒนาคนไทยก็กำลังสร้างโลก Metaverse ขึ้นเช่นกัน อาทิ Metaverse Thailand, Velaverse, T-Verse, Jakaverse, Translucia, เป็นต้น

การซื้อที่ดิน (หรือ Virtual Land) ในโลก Metaverse  จะทำให้ผู้ซื้อได้สิทธิในการเปิดร้านใน Metaverse นั้น ๆ ซึ่งการเปิดร้านอาจจะหมายถึงการเปิดร้านขายของที่เป็น NFT การสร้างเกมให้คนเข้ามาเล่น หรือการจัดกิจกรรม PR ต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้ซื้อ Virtual Land อาจซื้อไว้เพื่อขายต่อในราคาที่สูงขึ้นก็ได้

 

สำหรับภาคธุรกิจอาจใช้ประโยชน์จาก Metaverse 3รูปแบบ ได้แก่  1.การทำ PR/Marketing เพื่อหาลูกค้าใหม่ ๆ 2. สร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าเก่าที่มีอยู่แล้ว  เช่น โรงพยาบาล หรือรีเทล  และ3.ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Blockchain เพื่อสร้างสินค้าใหม่ๆ หรือ ทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เช่น ขาย NFTs อาทิ เครื่องประดับและวัตถุที่ใช้ในโลกเสมือน งานศิลปะ, หรือสร้างเกม Play-to-Earn ขาย Virtual Land เป็นต้น โดยหากโลก Metaverse เติบโตขึ้นได้จริงน่าจะมีการจ้างงานประเภทใหม่ ๆ ได้อีกมากมาย เช่น นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล  ผู้จัดงานในโลก Metaverse วิศวกร Blockchain 

 

ธปท.ชี้ช่องธุรกิจ  ใช้ประโยชน์จาก “Metaverse-บลอคเชน”

รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ รองศาสตราจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคุ้มค่าของการลงทุนในโลกMetaverseโดยระบุว่า  ปัจจุบันการซื้อขายที่ดินในโลก Metaverse ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก จากสถิติล่าสุด (เดือนเมษายน 2565) พบว่ามีผู้ซื้อที่ดินในราคาสูงถึง 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 140 ล้านบาท สำหรับ The Sandbox และ 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 115 ล้านบาท สำหรับ Decentraland

 

ขณะที่งานวิจัยได้ทำการวัดดัชนีราคาที่ดิน (LAND NFT) ใน The Sandbox โดยใช้ราคาที่ดินทั้งหมด (All-Sales Index) ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2562 ถึงมกราคม 2565 พบว่า ราคาที่ดินเพิ่มสูงถึงกว่า 300 เท่า  นอกจากนี้ งานวิจัยยังได้คำนวณดัชนีราคาที่ดินแบบใช้ราคาของที่ดินผืนที่มีการซื้อขายซ้ำ (Repeat  Sales Index)  และพบว่า ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 12 เท่า  (ซึ่งแม้จะต่ำกว่าในกรณีของ All-Sales Index ค่อนข้างมาก แต่การเพิ่มของราคาที่ดินถึง 12 เท่าในช่วงเวลา 2 ปี ก็ถือว่าสูงมากแล้วเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของที่ดินในโลกจริง)

 

แม้พิจารณาจากข้อมูล Land Price Index พบว่าการซื้อที่ดินใน Metaverse เพื่อมาขายต่อในช่วงเวลาที่ผ่านมา น่าจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามาก แต่มีข้อสังเกตสำคัญว่าจากข้อมูลที่เผยแพร่ไม่สามารถทราบได้ว่ามีการปั่นหรือสร้างราคาอันเกินจริงหรือไม่

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของ Metaverse เมืองใหม่ ๆ อาจทำให้ราคาของที่ดินในเมืองที่สร้างมาก่อนปรับลดลง และราคาที่ดินที่สูงเกินไปอาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดฟองสบู่แตกได้

 

รศ.ดร.คณิสร์ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็น “ความเต็มใจที่จะจ่ายของผู้ซื้อ” โดยปัจจัยที่มีผลต่อราคาที่ดิน พบว่า โดยเฉลี่ย เมื่อมีการซื้อขายที่ดินใน The Sandbox โดยใช้เหรียญ SAND (คริปโทเคอร์เรนซีที่เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนใน The Sandbox) จะมีราคาสูงกว่าที่ดินที่ถูกซื้อขายโดยใช้เหรียญ ETH 

 

จึงเป็นที่น่าสนใจว่า สกุลเหรียญที่เลือกใช้ชำระมีความสัมพันธ์กับราคาซื้อขายที่ดินที่เกิดขึ้นในโลก Metaverse ทั้งนี้ ผู้วิจัยมองว่ามีความเป็นไปได้ว่า ความเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness to Pay) ในการซื้อที่ดินใน Metaverse ของผู้ที่ถือสกุลเหรียญที่ต่างกันอาจมีความแตกต่างกัน

 

หากพิจารณาจากอัตราแลกเปลี่ยนของ SAND กับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเวลาที่ทำการวิเคราะห์ พบว่า SAND แข็งค่าขึ้นสูงสุดประมาณ 135 เท่า ในขณะที่ ETH แข็งค่าขึ้นประมาณ 11 เท่า

“จากงานวิจัยพบว่า มีการใช้เหรียญคริปโทเคอเรนซี่สกุลSANDในการซื้อ แต่กรณีการขายจะเป็นสกุลเงินอื่นๆโดย 99%ในตลาดรองโดยเฉพาะ  3สกุลเงินหลัก ที่นิยมใช้เพื่อชำระราคา ซึ่งนำโดย ETH 74% ,   wETH 16.3% และ SAND 9.3%ทั้งนี้การใช้เหรียญคริปโทในการจ่ายแล้วแปลงราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐ”

 

อนึ่ง  งานวิจัยเรื่อง “Is Metaverse LAND a Good Investment? It Depends on Your Unit of Account!” (PIER Discussion Paper No. 172) ได้วิเคราะห์ประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Metaverse รวมถึงได้นำข้อมูล Virtual Land Sales ของ The Sandbox Metaverse มาทำการวิเคราะห์เชิงลึก 5ประเด็นที่น่าจับตามองเกี่ยวกับ Metaverse

 

-ที่มาและความหมายของ Metaverse

          คำว่า “Metaverse” ถูกใช้ครั้งแรกในนิยายเรื่อง Snow Crash ของ Neal Stephenson ตีพิมพ์ในปี 2535  ซึ่ง Metaverse เป็นโลกเสมือนที่ผู้คนเข้าไปสร้างตัวตนและใช้ชีวิตอยู่ โดยในยุคปัจจุบันได้มีความพยายามสร้างโลกเสมือนบนเทคโนโลยี Blockchain ทำให้สร้างระบบเศรษฐกิจในโลกเสมือนนี้ได้ โดยสามารถสร้างคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นสื่อกลางการใช้จ่ายในโลกเสมือนนี้ ส่วนของใช้หรือสินค้าต่าง ๆ ในโลกเสมือนจะถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบ Non-Fungible Token (NFT) หรือเหรียญที่ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอก จึงสามารถแสดงความเป็นเจ้าของในเหรียญนั้น ๆ ได้

-ความเต็มใจที่จะจ่ายของผู้ซื้อ

          งานวิจัยของ ผศ.ดร.วรประภา และ รศ.ดร.คณิสร์ ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคาที่ดิน (Hedonic Pricing Analysis) แล้วพบว่า โดยเฉลี่ย เมื่อมีการซื้อขายที่ดินใน The Sandbox โดยใช้เหรียญ SAND (คริปโทเคอร์เรนซีที่เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนใน The Sandbox) จะมีราคาสูงกว่าที่ดินที่ถูกซื้อขายโดยใช้เหรียญ ETH  จึงเป็นที่น่าสนใจว่า สกุลเหรียญที่เลือกใช้ชำระมีความสัมพันธ์กับราคาซื้อขายที่ดินที่เกิดขึ้นในโลก Metaverse ทั้งนี้ ผู้วิจัยมองว่ามีความเป็นไปได้ว่า ความเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness to Pay) ในการซื้อที่ดินใน Metaverse ของผู้ที่ถือสกุลเหรียญที่ต่างกันอาจมีความแตกต่างกัน หากพิจารณาจากอัตราแลกเปลี่ยนของ SAND กับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเวลาที่ทำการวิเคราะห์ พบว่า SAND แข็งค่าขึ้นสูงสุดประมาณ 135 เท่า ในขณะที่ ETH แข็งค่าขึ้นประมาณ 11 เท่า

-The Metaverse Hype Cycle

          ดูเหมือนว่า Metaverse และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องน่าจะมีศักยภาพในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ดี จากหลักการของ Gartner Hype Cycle พบว่าเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น คนจะสนใจและตื่นเต้นกับเทคโนโลยีนั้น ๆ มาก ตลอดจนการสร้างความคาดหวังที่เกินจริง เพราะในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีใครสามารถทราบถึงศักยภาพที่แท้จริงของเทคโนโลยีนั้น ๆ ได้ ต้องรอให้เวลาผ่านไปสักช่วงหนึ่งก่อน ให้เทคโนโลยีนั้น ๆ ได้รับการสร้างและมีการใช้งานจริงไปสักพัก ผู้คนจึงจะเข้าใจว่าแท้จริงแล้วเทคโนโลยีนี้ใช้ทำอะไรได้ดี และใช้ทำอะไรไม่ได้ดี มีโอกาสและความเสี่ยงที่แท้จริงอย่างไร เมื่อถึงจุดนั้นแล้ว Productivity ที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้ตามความเป็นจริง ซึ่งเมื่อพิจารณาจาก Google Trend การค้นหาคำว่า NFT และ Metaverse ทั้งในไทยและต่างประเทศก็ได้ลดระดับลงมาจากเมื่อปลายปี 2564 ลงมากแล้ว