ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนก.พ.65ส่งสัญญาณฟื้นตัว

31 มี.ค. 2565 | 09:44 น.

ธปท.เผย เศรษฐกิจไทยเดือนก.พ.65 ยังฟื้นตัว แนวโน้มเดือนมีนาคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์โอมิครอนในประเทศที่รุนแรงและราคาพลังงานที่ปรับขึ้นสูง –เกาะติดสถานการณ์ “ โอมิครอน -การปรับขึ้นต้นทุนและราคาสินค้า -ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

ธปท.เผย เศรษฐกิจไทยเดือนก.พ.65 ยังฟื้นตัว  ทั้ง “ส่งออก -นักท่องเที่ยวต่างชาติ-ภาครัฐขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลาง” ยกเว้นการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนปรับลดเป็น 2.3% และ 4.3% จากเดือนม.ค 5.0% และ 7.8%  จากผลกระทบ Omicron สอดคล้องความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในภาคการผลิตที่ปรับลด   

ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนก.พ.65ส่งสัญญาณฟื้นตัว

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวโดยการส่งออกสินค้าและบริการปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศปรับลดลงเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคมพลังงาน อาหารสด และอาหารสำเร็จรูป ตลาดแรงงานปรับดีขึ้นเล็กน้อยแต่โดยรวมยังเปราะบาง

ส่วนแนวโน้มเดือนมีนาคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่รุนแรงและราคาพลังงานที่ปรับขึ้นสูง ยังต้องติดตามสถานการณ์ 1.การแพร่ระบาดของโควิด-19  2.การปรับขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้า  3.ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนก.พ.65ส่งสัญญาณฟื้นตัว

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนก.พ.ประกอบด้วย มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.9% ( จาก-2.3%เดือนม.ค.ที่ผ่านมา ) ในหลายหมวด อาทิ หมวดที่มีมูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และหมวดสินค้าเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะน้ำตาลที่ผลผลิตในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ยังได้รับผลดีจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าเกษตร อาทิ ผลไม้ ปรับลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของจีนที่เข้มงวดขึ้น

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงที่เร่งนำเข้าตามการบริหารคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ ขณะที่การนำเข้าหมวดสำคัญอื่น ๆ ลดลงบ้าง ทั้งวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับการใช้จ่ายในประเทศ

ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนก.พ.65ส่งสัญญาณฟื้นตัว

ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.52แสนคนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ 1.33แสนคน ตามการกลับมาเปิดลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นบ้าง

 

อย่างไรก็ดี การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนลดลงเล็กน้อยเป็น2.3%,4.3%จากเดือนก่อนอยู่ที่ 5.0% และ7.8%เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง 

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น 5.28%ตามราคาพลังงานและอาหารสด รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน1.80%ที่เร่งขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นบ้างแต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลงจากเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลรายได้ บริการ และเงินโอนยังขาดดุลต่อเนื่อง

 

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน เป็นผลจากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่กลับมารุนแรงขึ้น ประกอบกับราคาพลังงานและราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงบ้าง อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐยังเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยพยุงการใช้จ่ายของครัวเรือน

ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนก.พ.65ส่งสัญญาณฟื้นตัว

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยลดลงจากด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามการนำเข้าสินค้าทุนเป็นสำคัญ ขณะที่ด้านก่อสร้างค่อนข้างทรงตัว

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเฉพาะ หมวดปิโตรเลียม และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับทิศทางการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ขณะที่การผลิตบางหมวดปรับลดลงจากเดือนก่อน อาทิ หมวดยางและพลาสติก หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หมวดยานยนต์ และหมวดเคมีภัณฑ์ ส่วนหนึ่งเพราะยังได้รับผลกระทบจากปัญหา supply disruption

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัว 3.4%เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวต19.2%ตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมเป็นสำคัญ ส่วนรายงานลงทุนของรัฐวิสาหกิจ-35.2%

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและอาหารสด รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เร่งขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูปตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลงจากเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลมากขึ้น ขณะที่ดุลรายได้ บริการ และเงินโอนยังขาดดุลต่อเนื่อง ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น หลังมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านระบบ Test & Go อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์