ธปท. คาดราคาน้ำมัน-อาหาร ดันเงินเฟ้อพุ่งทะลุ 5% ไตรมาส 2

30 มี.ค. 2565 | 23:18 น.

ธปท.เตรียมทำจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงการคลัง คาดไตรมาส 2เงินเฟ้อเพิ่มสูงกว่า 5% ขยับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้แตะ 4.9% ก่อนจะปรับลดลงปีหน้า 1.7% เหตุราคาพลังงาน-อาหารเร่งตัวเป็นหลัก

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ย้ำกรอบดำเนินนโยบายการเงินภาพรวม คือเป้าหมายเงินเฟ้อระยะปานกลาง 1 - 3%ตราบใดยังอยู่ในเป้าหมาย ให้น้ำหนักไปดูแลเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงิน เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงจากปัจจัยอุปทาน และจะคลี่คลายในปีหน้า

ธปท. คาดราคาน้ำมัน-อาหาร ดันเงินเฟ้อพุ่งทะลุ 5% ไตรมาส 2

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงกว่า 5% ในไตรมาสที่ 2 และ 3  ในปีนี้ ซึ่งมาจากราคาพลังงานและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก

 

ทั้งนี้คาดว่าทั้งปีนี้เงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มอยู่ที่ 4.9%  บนสมมติฐาน ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ถัดไปในปีหน้าจะปรับลดลงอยู่ที่ 1.7% ราคาน้ำมันอยู่ที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและในปี2566เงินเฟ้อจะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาการราคาพลังงานและอาหารจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นต่อในช่วง 1 ปี ยกเว้นจะมีPrice Shockต่อเนื่องจากราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์

 

" ที่มาของราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากแรงกระแทก ภายนอกประเทศ ซึ่งกระทบทั่วโลก แม้ไทยจะมีกลไกกองทุนน้ำมันช่วยรับต้นทุนระดับหนึ่งแต่มองไปข้างหน้าราคาพลังงานและอาหารจะสูงกว่าที่คาดไว้

รอบนี้คงจะมีจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงการคลัง ซึ่งเคยทำมาแล้วช่วงเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3%เป็นกรอบระยะปานกลางที่ธปท.กับกระทรวงการคลังทำข้อตกลงร่วมกัน( MOU) ซึ่งเป็นอัตราต่อเนื่องจากปีที่แล้ว"

 

ทั้งนี้ มองไปข้างหน้า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เครื่องชี้หลายตัวระยะปานกลางยังไม่ปรับเพิ่ม  ธปท.จะควบคุมให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้ แม้ระยะสั้นอาจจะหลุดกรอบบ้าง  ทุกธนาคารกลางเผชิญปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มสูงในปีนี้ และจะปรับลดลงกว่าครึ่งในปีหน้า   เพราะผลจากฐานที่สูง แต่แนวโน้มราคาพลังงานและอาหารจะเร่งขึ้นต่อยังจำกัดในปี2566

 

ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะ1ปีสอดคล้องกับเป้าหมาย  ที่สำคัญเงินเฟ้อระยะ5ปียังไม่แรับเพิ่ม เมื่อเทียบกับปี 2551-2552 ช่วงนั้นไทยประสบปัญหาราคาพลังงาน และอาหารสูง โดยเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นปรับสูงขึ้นอยู่ที่ราว 10% ส่วนใหญ่เกิดจากซัพพลายช็อกระยะสั้น 

 

แต่ภาพปัจจุบันปรับเพิ่มบ้าง  แต่ระยะปานกลางและยาวเงินเฟ้อยังไม่ปรับมาก สะท้อนว่าไม่ได้กระทบ  เงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวกรอบเงินเฟ้อคาดการณ์ได้ค่อนข้างดี  และหมวดที่ปรับเพิ่มยังจำกัดราคาพลังงานและราคาอาหารเป็นหลักยังไม่กระจาย แต่เรายังคงต้องติดตามเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางต่อไป

" กรอบดำเนินนโยบายการเงินภาพรวม คือเป้าหมายเงินเฟ้อระยะปานกลาง 1 - 3%ตราบใดยังอยู่ในเป้าหมาย เราเทน้ำหนักไปดูแลเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินได้ เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงจากปัจจัยอุปทาน และจะคลี่คลายในปีหน้า

 คณะกรรมการจึงให้น้ำหนักสนับสนุนตรงนั้นให้ราบรื่นก่อนไม่ใช่ไม่ใส่ใจเรื่องของเงินเฟ้อ  การใช้นโยบายการเงินนั้นสำคัญมาก คือ ต้นทุนทางการเงินเริ่มจากดอกเบี้ยระยะสั้นซึ่งเป็นพื้นฐานของผลตอบแทนเกือบทั้งหมดในตลาดการเงิน  ทั้งเงินฝาก  หุ้นกู้  พันธบัตร  หรือการพึ่งพิงการกู้ยืม  จึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี  เหตุของเงินเฟ้อไม่ได้ร้อนแรงและมองไปข้างหน้า เงินเฟ้อเพียงชั่วคราว จึงไม่อยากใช้นโยบายดอกเบี้ยเป็นทางออก"

 

ต่อข้อถามกรณีอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 5.2% นั้น ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่บานปลาย ทำให้เงินเฟ้อสูงกว่าคาดการณ์และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีกในไตรมาส 2 และ 3 เเพราะฐานของราคา และแรงกดดันที่มีอยู่ แต่หากดูผลระยะปานกลางนโยบายที่จะส่งผลในอีก 1 ปี สามารถมองทะลุผ่านปัจจัยราคาที่ผันผวนระยะสั้นได้

 

เนื่องจาก แนวโน้มเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว หากจะฉุดเศรษฐกิจลงมาแรงๆ เพื่อดึงเงินเฟ้อลงมาจะไม่คุ้ม และโดยรวมคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลงในปี 2566 ทำให้สามารถคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่อัตรา 0.50% ต่อปี

  

นายปิติกล่าวว่า  การปรับลดประมาณการจีดีพีในปีนี้ลง 0.2% เหลือโต 3.2% จากเดิมอยู่ที่ 3.4%และในปี2566 อยู่ที่ 4.4% จาก 4.7% เป็นการปรับลดลงไม่มาก ตัวที่ลดทอนประมาณการ มาจากโอมิครอนที่อาจจะยืดเยื้อกว่าคาด แต่โดยรวม กระทบด้านสาธารณสุขจำกัด ส่วนผลต่อกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่มากนัก

ในแง่สงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้า ชะลอตัวลงบ้าง รวมทั้งราคาต้นทุนที่สูงขึ้นจะบั่นทอนการบริโภคภายในประเทศในระดับหนึ่ง แต่โดยรวมไม่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง  โดยแนวโน้มของการฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวรัสเซียราว4แสนคนจากเป้าทั้งปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวรวมจำนวน 5.6ล้านคนผลกระทบจากรัสเซียค่อนข้างน้อย  ในประเทศก็จะผ่อนคลายและเปิดประเทศมากขึ้นจะช่วยให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาครึ่งปีหลัง

 

"ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้เรามองไม่ต่างจากสำนักอื่นที่ประเมินอยู่ในช่วง2.7-3.4% ซึ่งเรามองเศรษฐกิจไทยเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้จะมาจากภายในประเทศเป็นหลัก และในปีหน้าจะพึ่งพาต่างประเทศมากขึ้น  คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มเป็น 19 ล้านคน ซึ่งเหตุการณ์รัสเซียกระทบภาพใหญ่ทั่วโลก แต่ประเทศไทยไม่ถูกกระทบโดยตรง  ด้านภาคการเงินเราค่อนข้างเข้มแข็ง  ยกเว้นราคาพลังงานที่เร่งสูงขึ้น แต่ในแง่เศรษฐกิจไม่ถึงขั้นวิกฤติโดยมองเศรษฐกิจเรายังฟื้นตัวต่อเนื่อง”

 

 นายปิติกล่าวเพิ่มเติมว่า  ตอนนี้ไทยไม่ได้เข้าข่ายสภาวะ“Stagflation” เพราะเศรษฐกิจไทยเร่งตัวในระดับ 3.2%  ปีหน้าจะเติบโตเร็ว จึงยังไม่เข้าข่าย Stagflation แต่ต่างประเทศเช่น สหรัฐ เศรษฐกิจอยู่ในภาวะร้อนแรง และเงินเฟ้อสูง

 

จึงเป็นโจทย์ของธนาคารกลางค่อยๆประคองเพื่อให้ Takeoff ราบรื่น  แต่เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดน่าจะต้นปีหน้าตอกย้ำภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพนั้นปกติจะขยายตัว 3%ถ้าไม่เกิดการระบาดของโควิดจะเติบโตสูงกว่านี้  ดังนั้นการจะกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพอาจจะต้องมีการคุยกันและปรับประมาณการในรอบถัดไปอย่างน้อยปลายปีหน้า