อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่าา" ที่ระดับ 33.40 บาท/ดอลลาร์

16 ธ.ค. 2564 | 01:04 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้โดยการอ่อนค่าของดอลลาร์ปัจจัยหนุน หลังจากที่ผู้เล่นในตลาดรู้ผลประชุมเฟดแล้ว 

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า" ขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.415 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ หลังจากที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มรับรู้ผลการประชุมเฟดเรียบร้อยแล้ว โดยปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็น การอ่อนค่าลงเล็กน้อยของเงินดอลลาร์ ที่อาจช่วยหนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาได้บ้าง นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นสัญญาณกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทจากนักลงทุนต่างชาติอีกครั้ง สะท้อนผ่านยอดซื้อบอนด์ระยะสั้นสุทธิราว 2.5 พันล้านบาทในวันก่อน ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า ผู้เล่นต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับมาเก็งกำไรเงินบาทมากนัก จนกว่าจะมีความชัดเจนของโฟลว์ธุรกรรม M&A ใหญ่ในปีนี้ ว่าจะมีลักษณะการทำธุรกรรมอย่างไร 

ทั้งนี้ ในเชิงเทคนิคัลยังคงสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในระยะสั้น โดยส่วนแนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวต้านเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดของเงินบาทในช่วงก่อนรับรู้การประชุมเฟดที่ผ่านมา ย้ำว่าระดับดังกล่าวยังเป็นแนวต้านที่สำคัญในระยะสั้น

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.45 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดหุ้นยุโรปต่างปรับตัวขึ้น โดยดัชนี Nasdaq ปิดตลาด +2.15%, ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +1.63% ส่วนดัชนี STOXX50 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้นราว +0.37% หลังจากที่ผลการประชุมเฟดไม่ได้ออกมาผิดจากที่ตลาดคาดการณ์และรับรู้ไปมากนัก โดยเฟดได้มีมติปรับเพิ่มอัตราการลดคิวอีจากเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 3.0 หมื่นล้านดอลลาร์ สอดคล้องกับประมาณการของผู้เล่นในตลาด พร้อมกันนั้น เฟดได้ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้งในปีหน้า ซึ่งมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้าราว 3 ครั้ง ก็เป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้มาแล้วสักระยะเช่นกัน ทำให้ผลการประชุมเฟดไม่ได้ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อแนวโน้มการเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดแต่อย่างใด นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการปรับประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2022 สะท้อนว่า เฟดยังมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวหนัก 

นอกเหนือจากประเด็นผลการประชุมเฟดที่สอดคล้องกับมุมมองของตลาดนั้น บรรยากาศในตลาดการเงินยังได้แรงหนุนจากแถลงของนายแพทย์แอนโทนี ฟอซี หัวหน้าที่ปรึกษาทางการแพทย์ประจำทำเนียบขาว ที่ระบุว่า วัคซีนบูสเตอร์ในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพในการรับมือการระบาดของโอมิครอนได้ดีอยู่ และยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาวัคซีนที่เฉพาะเจาะจงสำหรับสายพันธุ์โอมิครอนแต่อย่างใด 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าเฟดจะส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้ไปพอสมควรแล้ว ทำให้บอนด์ยีลด์10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยราว 3bps สู่ระดับ 1.46% จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทั้งนี้ เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของเฟด รวมถึงบรรยากาศตลาดการเงินที่มีโอกาสที่จะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงหลังจากที่ตลาดรับรู้แนวโน้มนโยบายการเงินเฟดเป็นที่เรียบร้อย รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่อาจลดความกังวลการระบาดของโอมิครอนลง หลังข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ต่างออกมาระบุว่าการแจกจ่ายวัคซีนเข็มกระตุ้นยังสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ ขณะเดียวกัน ยาต้านCOVID-19 “PAXLOVID” ของ Pfizer ก็ยังมีความสามารถที่ดีในการลดความเสี่ยงการป่วยหนักหรือเสียชีวิต เมื่อเจอกับโอมิครอน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง จากที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด หลังจากที่ผลการประชุมเฟดไม่ได้ผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อีกทั้งภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดยังได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยลง  ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 96.51 จุด (ดัชนี DXY แตะจุดสูงสุดที่ 96.9 ก่อนการประชุมเฟด) นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ยังได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำสามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาใกล้ระดับ 1,779 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อีกครั้ง หลังจากที่ย่อตัวลงหนักแตะระดับ 1,753 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงก่อนการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี เรามองว่า แนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด รวมถึง ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดจะกดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อแรงได้ยาก และ Upsides ของราคาทองคำเริ่มจำกัด

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลาง อาทิ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นต้น โดยตลาดประเมินว่า แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ชะลอลงชัดเจนจากปัญหาการระบาดล่าสุดจะส่งผลให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.10% ต่อ แม้ว่าผู้เล่นบางส่วนมองว่า BOE อาจขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ หลังเงินเฟ้ออังกฤษพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม อาทิ คง Deposit Facility Rate ที่ -0.50% อย่างไรก็ดี ตลาดจะรอติดตามว่า ECB จะมีการปรับลดการทำคิวอีพิเศษในช่วงวิกฤติ COVID (PEPP) อย่างไร หลังจาก ECB ได้ส่งสัญญาณว่าจะปรับลดการซื้อสินทรัพย์ผ่าน PEPP ลง เนื่องจากตลาดการเงินฟื้นตัวได้ดีและไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดยังประเมินว่าบรรดาธนาคารกลางในเอเชีย อาทิ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI), ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) และ ธนาคารกลางไต้หวัน (CBC) ก็จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.50%, 2.00% และ 1.125% ตามลำดับ เช่นกัน  ท่ามกลางความไม่แน่นอนของผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังมีความจำเป็น