อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.46 บาท/ดอลลาร์

19 ต.ค. 2564 | 00:42 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทระยะสั้นเงินบาทยังมีทิศทางผันผวนด้านแข็งค่า จากปัจจัยดอลลาร์อ่อน -ฟันโฟลว์ซื้อหุ้นไทยบนการเก็งกำไรธีมเปิดประเทศ แนะจับตา “โฟลว์เก็งกำไรทองคำ-พื้นฐานเศรษฐกิจยังเสี่ยงจากโควิดอีกระลอก-ภาวะน้ำท่วม”ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันด้านอ่อนค่า

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.46 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.48 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ในระยะสั้นเงินบาทยังมีทิศทางผันผวน โดยปัจจัยหนุนการแข็งค่ายังเป็น ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่อาจทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ขณะเดียวกันฟันด์โฟลว์ไหลเข้าสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาซื้อหุ้นไทยบนการเก็งกำไรธีม Reopening ก็ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท แต่ทว่า เงินบาทยังมีปัจจัยกดดันด้านอ่อนค่าอยู่ โดยเฉพาะโฟลว์การเล่นรอบทองคำ ซึ่งเราคาดว่า อาจเห็นผู้ค้าทองคำบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวลงใกล้แนวรับหลัก และนอกจากโฟลว์เก็งกำไรทองคำ เรามองว่า ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงอยู่ จากปัญหาการระบาดระลอกใหม่ รวมถึง โอกาสเกิดภาวะน้ำท่วมซึ่งต้องจับตาแนวโน้มความรุนแรงของพายุที่จะเข้ามา ในเดือนนี้และเดือนหน้า

 

เรามองว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทก็ขยับลงมาอยู่ในโซน 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่ ส่วนผู้นำเข้าบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ เงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่โซน 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า การที่เงินบาทจะกลับไปแข็งค่าหนักในระยะสั้น เช่น แข็งค่ากลับไปแตะระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ แบบในรอบก่อนหน้า อาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะปัจจัยพื้นฐานยังไม่ได้ฟื้นตัวดีมากนัก

 

 

 

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนสูงและมีการกลับทิศทางได้เร็ว ดังนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ประกอบการควรพิจารณาใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ การใช้ Options หรือบัญชี FCD ควบคู่ไปกับการใช้ Forward

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.50 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ โดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.34% ส่วนดัชนี หุ้นเทคฯ Nasdaq ก็ปรับตัวขึ้นกว่า +0.84% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความกังวลปัญหาการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ อาทิ Netflix และ Tesla ที่การเคลื่อนไหวของหุ้นดังกล่าวอาจส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้

 

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 กลับปรับตัวลงราว -0.75% ท่ามกลางความกังวลว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากกว่าคาด รวมถึง ปัญหา Supply Chain อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรป ยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม Kering -2.4%, Louis Vuitton -2.2% หลังทางการจีนเตรียมประกาศขึ้นภาษีอสังหาฯ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Common Prosperity ทำให้ผู้เล่นตลาดบางส่วนกังวลว่า การปรับขึ้นภาษีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าแบรนด์เนมจากผู้บริโภคชาวจีนได้

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาพตลาดเปิดรับความเสี่ยงและมุมมองของผู้เล่นบางส่วนที่เชื่อว่า เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงได้นาน ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ทรงตัวที่ระดับ 1.58% ซึ่ง เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ รวมถึง บอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วโลก ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ ตามทิศทางของนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักที่จะเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น อาทิ การทยอยคิวอี และคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟดรวมถึงประธานเฟดในสัปดาห์นี้ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของตลาด โดย ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงมาสู่ระดับ 93.94 จุด นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ท่ามกลางความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนุนที่สามารถกดดันเงินดอลลาร์ได้

 

อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหว Sideways ของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ราคาทองคำ ยังคงทรงตัวใกล้แนวรับที่ระดับ 1,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า อาจมีผู้เล่นบางส่วนเข้ามาซื้อเก็งกำไรเล่นรอบทองคำในกรอบ 1,760-1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งโฟลว์การเข้าซื้อทองคำตอนย่อตัวนั้น อาจเป็นอีกปัจจัยหนุนการอ่อนค่าของเงินบาท (ขายเงินบาทเพื่อซื้อเงินดอลลาร์และนำไปซื้อทองคำ)

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทเทคฯใหญ่ ในฝั่งสหรัฐฯ อย่าง Netflix และ Tesla ซึ่งถ้าหากงบออกมาดีกว่าคาดและแนวโน้มจะเติบโตได้ในอนาคตก็จะช่วยให้ตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยงต่อได้