ThaiBMA เพิ่มประมาณการเอกชนออกหุ้นกู้ปีนี้ 900,000 ล้านบาท

08 ก.ค. 2564 | 10:40 น.

สมาคมตราสารหนี้ปรับประมาณการเอกชนออกหุ้นกู้ปี 64 เพิ่มเป็น 900,000 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกออกแล้ว 522,070 ล้านบาท หลังพบมีความต้องการระดมทุนรองรับสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าบริษัทเอกชนไทยยังคงต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการ refinance สินเชื่อที่กู้มาในช่วงก่อนหน้านี้ของบริษัทขนาดใหญ่เพื่อการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยได้ปรับประมาณการออกหุ้นกู้ทั้งปีขึ้นเป็นที่900,000 ล้านบาท จากเดิมที่ 750,000 ล้านบาท จากในครึ่งปีหลังคาดว่าเอกชนจะออกไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกมีมูลค่าการออกแล้วที่ 522,070 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่รัฐบาลกู้เงินนำไปใช้เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดนั้น มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง หรือเป็นปัจจัยเร่งให้อัตราดอกเบี้ยและต้นทุนในระบบปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะสภาพคล่องในระบบและเงินออมในประเทศไทยยังสามารถรองรับได้ และมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อไป ซึ่งปีนี้ถึงปีหน้าจะยังไม่เห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

สำหรับการระบาดของไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ยืดยื้อยาวนาน ส่งผลกระทบในส่วนหุ้นกู้ที่เป็นไฮยีลด์บอนด์ที่ออกและขายนักลงทุนเฉพาะ สะท้อนจากปัจจุบันผู้ออกมีการขอยืดระยะเวลาในการชำระเพิ่มมากขึ้น และขอยืดอายุในการชำระยาวขึ้นจากเดิมที่ 6-9 เดือน ขยายไปมากกว่า 1-2 ปี รวมถึงมีการออกหุ้นกู้แบบมีประกันเพิ่มสูงขึ้น โดยครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนว่าหุ้นกู้มีประกันก็มีความเสี่ยง และหากมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นขบวนการในการบังคับหลักประกันก็ต้องใช้เวลาด้วย

 

ขณะที่ มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวที่ 2% มาอยู่ที่ 14.41 ล้านล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล ลดลงในตราสารหนี้ที่ออกโดยธปท. ส่วนมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวเพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการออก522,070 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่มียอดการออกทั้งปีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนการออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม สังคมและความยั่งยืน (ESG bond) ยังเป็นกระแสอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีมูลค่าการออก ESG bond จากทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสิ้น61,000 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของมูลค่าการออกปีที่แล้วทั้งปี

ขณะเดียวกัน ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่ามีโอกาสจะขยับขึ้นตาม Bond yield ของสหรัฐอเมริกา จากการที่เฟดจะเริ่มส่งสัญญาณการทยอยถอนมาตรการการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Tapering) เมื่อตัวเลขต่างๆ สะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

 

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) เมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนรูปแบบใหม่ที่ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับผลความสำเร็จของโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหรือสังคม โดยผู้ออกสามารถนำเงินทุนไปใช้ในโครงการต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคมตามที่ได้กำหนดเป็นเป้าหมายไว้ นับเป็นโอกาสในการระดมทุนที่เหมาะสำหรับบริษัทที่มีหลายโครงการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคม

 

ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างประเทศในครึ่งแรกของปี 2564 นักลงทุนต่างชาติมีการซื้อสุทธิรวม 73,437 ล้านบาท เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ระยะสั้น และซื้อสุทธิตราสารหนี้ระยะยาว เป็นการกลับเข้าซื้อตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทำให้ยอดการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นไตรมาสสองของปีนี้อยู่ที่ 908,386 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 849,081 ล้านบาท ณ สิ้นปีก่อนหน้า โดยมากกว่า 90% เป็นการถือครองในตราสารหนี้ระยะยาว