บสย.เผยยอดค้ำสินเชื่อ SME ไม่ถึงเดือนเกือบ 3 พันล้าน

24 พ.ค. 2564 | 03:27 น.

บสย. เผยยอดอนุมัติ “ค้ำประกัน สินเชื่อฟื้นฟู” ให้ SME ไม่ถึงเดือน เกือบ 3,000 ล้านบาท สูงสุดในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โรงแรม และร้านอาหาร วงเงินเฉลี่ย 1.25 ล้านบาทต่อราย

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ( บสย.) กล่าวว่า ผลดำเนินงานโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู ตาม พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์-พักหนี้ ตั้งแต่ 26 เม.ย.- 21 พ.ค.2564 ล่าสุด อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อแล้วเกือบ 3,000 ล้านบาท  และอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) จำนวน 2,260 ฉบับ มีวงเงินค้ำประกันเฉลี่ยต่อราย 1.25 ล้านบาท ส่วนประเภทธุรกิจที่มีการค้ำประกันในโครงการมากที่สุด ได้แก่ 1.กลุ่มการบริการ จำนวน 30% โดยมากสุดคือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง รองลงมาคือธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และโลจิสติกส์  2. กลุ่มธุรกิจผลิตสินค้า และการค้าอื่นๆ จำนวน 11.50%  และ 3. การเกษตรกรรม จำนวน 11.10% เป็นการขอสินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

“คาดว่าภาพรวมการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีจำนวนธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ส่งคำขอมายัง บสย. เพื่อค้ำประกันมากขึ้น นอกจากนี้หากประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19ให้กับประชาชนได้ครอบคลุมมากขึ้น  คาดว่าช่วงเดือน ส.ค-ก.ย.64 เมื่อฉีดวัคซีนครบโดสกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มเดินหน้าเต็มที่ ยอดขอสินเชื่อก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” นางวสุกานต์ กล่าว

วสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บสย.

รักษาการผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู มีระยะเวลาขอสินเชื่อตั้งแต่เดือน 26 เม.ย.2564- 9 ต.ค.2566 วงเงินค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท ค้ำประกันสูงสุด 10 ปี ค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 1.75% ต่อปี โดยผู้กู้ 1 ราย สามารถขอกู้สินเชื่อได้ 3 สถาบันการเงินรวมแล้วกู้ได้สูงสุด 450 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ความช่วยเหลือค้ำประกันเงินกู้ แก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี (SMEs) ทั้งกลุ่มขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่  รวมถึงบุคคลธรรมดา ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มีสภาพคล่อง หรือมีเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ โดยใช้ บสย.เป็นหลักประกันในการขอกู้เงินจากธนาคาร มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งระยะแรกกำหนดยอดค้ำไว้ที่ 100,000 ล้านบาท จากวงเงินค้ำรวม 250,000 ล้านบาท

“บสย.ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการภายใน เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและระบบปฎิบัติการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อรองรับปริมาณคำขอค้ำประกันสินเชื่อที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอนุมัติค้ำประกันที่รวดเร็ว ซึ่งปัจจุบัน บสย.รองรับการขออนุมัติสินเชื่อได้ถึง 10,000 รายต่อวัน  และเมื่อธนาคารพันธมิตรต่างๆ ส่งคำขอมายัง บสย.เพื่อขอค้ำประกัน บสย.สามารถอนุมัติจบภายในวันเดียวเท่านั้น ช้าสุดไม่เกิน 3 วันทำการ” นางวสุกานต์ กล่าว

มาตรการ "สินเชื่อฟื้นฟู"

นอกจากนี้ บสย.ยังได้เปิดช่องทางติดต่อ Call Center 02-890-9999 รวมทั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย.F. A. Center โทร. 065-507-8999 Line @doctor.tcg  เว็บไซต์ www.tcg.or.thและสำนักงานเขต บสย.ทั้ง 11 แห่ง เพื่อขอรับคำแนะนำการเข้าถึงแหล่งทุนและโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูได้ทุกวันในเวลาทำการ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

บสย. อัด100,000 ล้าน ค้ำเงินกู้ธุรกิจ ค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี

เช็กที่นี่!"สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ"จากกรุงไทย วงเงิน 2.5 แสนล้าน

ธปท.เผยอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูแล้วกว่า 8,000ล้าน โรงแรม 2แห่งนำร่องพักทรัพย์พักหนี้