สคฝ.แนะกระจายเงินฝากเพิ่มผลตอบแทน

24 ส.ค. 2563 | 10:18 น.

สศฝ.เผยครึ่งปีผู้ฝากเงินเพิ่ม 1.1 ล้านราย วงเงินคุ้มครอง 14.67 ล้านล้านบาท แนะกระจายเงินฝากแต่ละประเภทหาผลตอบแทน

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ระบุ ความผันผวนในตลาดเงิน ส่งผลนักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนมาเข้าเงินฝากมากขึ้น เพื่อความปลอดภัย ส่งผลครึ่งปี 63 เงินฝาก เพิ่ม 1.1 ล้านราย วงเงินคุ้มครอง 14.67 ล้านล้านบาท แนะกระจายเงินฝากแต่ละประเภทหาผลตอบแทน และความปลอดภัยในการบริหารเงินอย่างยั่งยืน

 

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ สคฝ. เปิดเผยว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน)พบว่า มีจำนวน ผู้ฝากเงิน ในระบบสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองของ สคฝ.รวม 88.2 ล้านราย เพิ่มขึ้นราว 1.1 ล้านรายหรือ 1.38% และมีจำนวน เงินฝาก ที่ได้รับความคุ้มครองรวม 14.67 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 8.12% เมื่อเทียบกับ สิ้นปี 2562 โดยกว่า 98% เป็น ผู้ฝากเงิน รายย่อยที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ปริมาณเงินฝากมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่มผู้ฝาก โดยปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่มผู้ฝากบุคคลธรรมดาและผู้ฝากภาคธุรกิจองค์กรภาครัฐและกองทุนต่างๆอีกทั้งยังมีการขยายตัวในทุกระดับวงเงินฝากซึ่งเกือบครึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในระดับเงินฝากวงเงินสูงกว่า 25 ล้านบาท

สคฝ.แนะกระจายเงินฝากเพิ่มผลตอบแทน

 

“ปริมาณเงินฝาก ที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงนั้น เป็นผลจากความผันผวนในตลาดเงิน ทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนมาเข้าเงินฝากมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ในตลาดเงินที่ผลตอบแทนลดลงและยังมีแนวโน้มการออมเพื่อสำรองการใช้จ่ายในอนาคตด้วย”

ทั้งนี้เห็นได้จากผลตอบแทนตามประเภทสินทรัพย์ ย้อนหลัง 10 ปี(ระหว่าง2553-2562) ประเภทออมทรัพย์อยู่ที่ 0.72% เงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 1.88% พันธบัตรอายุ 3 ปี อยู่ที่ 2.41% ทองคำอยู่ที่ 2.31% กองทุน Jumbo25(หุ้น) อยู่ที่ 10.01% ดังนั้นแม้การฝากเงินจะยังเป็นช่องทางที่มั่นคงและมีความปลอดภัยสูง แต่ผู้ฝากยังสามารถพิจารณาจัดสรรสินทรัพย์ตามความเหมาะสมและตามความต้องการของตนเอง โดยต้องพิจารณาและศึกษาการจัดสรรสินทรัพย์อย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยในการบริหารเงินอย่างยั่งยืน

 

อย่างไรก็ตาม แม้ สคฝ.มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองเงินฝาก แต่จากผลศึกษาที่ผ่านมาพบว่า  สคฝ.เป็นที่รู้จัก 40%สำหรับประชาชนคนไทย ดังนั้นปีนี้จะให้น้ำหนักกับการสร้างการรับรู้สู่ประชาชนในวงกว้างยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์บริการ ให้ความรู้การคุ้มครองเงินฝาก 1158 และช่องทางออนไลน์ โดยเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองจากสคฝ.อยู่ที่  5 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุม ผู้ฝาก 80.5 1 ล้านราย หรือ 99.6 3% ของผู้ฝากเงินทั้งระบบ

สคฝ.คุ้มครองเงินฝากทันทีในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน ใน 5 ประเภทบัญชีเงินฝาก ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน  เงินฝากออมทรัพย์  เงินฝากประจำ  บัตรเงินฝากและใบรับเงินฝาก  ส่วนผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง  เช่น เงินฝากที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ , เงินลงทุนในตราสารประเภทต่างๆ เช่น พันธบัตรหุ้นกู้หน่วยลงทุน(SSF,RMF) หรือเงินฝากสหกรณ์ ,แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน และเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ E Money

 

" สคฝ.ดำเนินงานมาปีที่ 12 โดยยังไม่มีสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การคุ้มครอง ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และปัจจุบันสถาบันการเงินทั้งระบบยังมีความแข็งแกร่ง แต่สคฝ.ต้องเตรียมพร้อม เพื่อให้ผู้ฝากเงินสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลต่อเงินฝาก กรณีเกิดกระแสข่าวเกี่ยวกับสถาบันการเงิน เพราะสคฝ.มีความพร้อมที่จะคืนเงินฝากภายใน 30 วัน ตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด หากมีเงินฝากเกินกว่าวงเงินที่ได้รับความคุ้มครองก็จะได้รับเงินคืน เมื่อดำเนินการชำระบัญชีแล้วเฉลี่ย5ปี ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของสถาบันการเงิน"

 

นายทรงพลกล่าวย้ำว่า  ปีนี้มีความท้าทายค่อนข้างมาก หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่จบ ทำให้ทุกหน่วยงานต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือในอนาคต ซึ่งภาคสถาบันการเงินได้ร่วมกับภาครัฐในการปรับมาตรฐานต่างๆเพื่อจะช่วยกันให้ผ่านสถานการณ์รอบนี้ได้