หุ้น‘ค้าปลีก-สื่อสาร’ รับอานิสงส์ปิดกรุง

26 มี.ค. 2563 | 01:00 น.

หุ้นกลุ่มค้าปลีกและสื่อสารรับอานิสงส์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด สบจังหวะกักตุนอาหาร และ Work from Home ดันราคาหุ้นลดลงไม่มาก โบรกฯแนะทยอยสะสม ชี้ Bangkok Lockdown กระทบกำไรกลุ่มค้าปลีกเล็กน้อย 0.9% แต่หั่นประมาณการกำไรบจ.ลง 207,000 ล้านบาท เหลือ 793,000 ล้านบาท

 

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ซึ่งในไทยได้เริ่มปิดสถานที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ ทำให้ประชาชนแห่กักตุนอาหารแห้งและของใช้จำเป็น ส่วนทำงานเองที่บ้านได้เริ่มให้มีการ Work from Home ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มค้าปลีกและกลุ่มสื่อสาร  แม้ราคาจะปรับลดลงตามภาวะตลาด แต่ไม่รุนแรงมากนัก จากการที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 16-24 มีนาคม 2563 ดัชนีหุ้นในกลุ่มค้าปลีกลดลง 9.50% มากกว่าดัชนีหุ้นไทยที่ปรับลดลง 9.25% หลังจากช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนได้ออกไปซื้อของใช้และอาหารแห้งเก็บไว้เผื่อสถานการณ์ฉุกเฉินและลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสจากการพบปะผู้คน ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มไอซีที ได้รับประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีในการทำงานจากที่บ้านของบริษัทต่างๆ โดยปรับเพิ่มขึ้น 1.42% สวนทางกับกลุ่มอื่นๆที่ปรับลดลงทั้งหมดยกเว้นกลุ่มประกันภัยที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.63%

 

นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็กฯ เปิดเผยว่า แนะนำนักลงทุนทยอยสะสมหุ้นที่ได้ประโยชน์จาก Bangkok Lockdown เช่น บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)(MAKRO), บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL), บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TU) และ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) (TFMAMA)

หุ้น‘ค้าปลีก-สื่อสาร’  รับอานิสงส์ปิดกรุง

 

นอกจากนี้ยังมีหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการส่งเสริมการทำงานที่บ้าน เช่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC), บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (INTUCH), บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE), บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JAS), กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอด แบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF), กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF), บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) (COM7), บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (SIS) และ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (SYNEX)

 

 

ด้านบล.เอเซีย พลัสฯ ระบุว่า การที่ภาครัฐออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น ปิดสถานที่พบปะคนเป็นจำนวนมากเป็นเวลา 22 วัน ส่งผลให้กิจกรรมทางธุรกิจหยุดชะงักชั่วคราว กดดันต่อประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ให้ลดลงอีก โดยฝ่ายวิจัยได้ปรับลดประมาณการกำไรบจ.ปี 2563 ลง 207,000 ล้านบาท เหลือ 793,000 ล้านบาท โดยกลุ่มพลังงานและปิโตรเลียม ปรับลด 110,000 ล้านบาท, กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ปรับลด 54,000 ล้านบาท, กลุ่มขนส่งทางอากาศและโรงแรม ปรับลด 47,000 ล้านบาท และกลุ่มสื่อสารปรับลด 10,000 ล้านบาท

 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,560 วันที่ 26-28 มีนาคม 2563