เจนเนอราลี่ เร่งผลิตที่ปรึกษา

11 ก.ค. 2562 | 05:45 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

         หลังเปิดตัวโปรเจ็กต์ “สิงโตคำราม” หรือ เดอะ ไลอ้อน รอร์ (The Lion’s ROAR) ไปเมื่อต้นปี เพื่อเฟ้นหาและพัฒนาที่ปรึกษาทางการเงินอย่างมีคุณภาพ เสริมทัพองค์กรโดยสร้างแคมเปญ ระดับคุณวุฒิของตัวแทนเงินล้าน(MDRT) 3 ล้านใน 3 ปีที่เป็นแรงจูงใจสำหรับที่ปรึกษาทางการเงิน(Financial Planner: FP) ในการเร่งพัฒนาศักยภาพเป็นบันไดมุ่งสู่ “Year of Quality” ควบคู่พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

               ผ่านไปครึ่งปี เจ้าของโปรเจ็กต์ที่ดูแลช่องทางตัวแทนโดยตรง นายกรสยาม นนทรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายช่องทางจัดจำหน่ายผ่านตัวแทน (CAO) บริษัท เจนเนอราลี่ ประกันชีวิต (ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน)เล่าให้ “ฐานเศรษฐกิจ” ฟังว่า FP จะเป็นอนาคตที่สำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจประกันและของบริษัทเจนเนอราลี่ฯ และช่องทางตัวแทน ซึ่งภายใต้โปรแกรม “สิงโตคำราม” ถือว่า ประสบความสำเร็จในลำดับที่น่าพอใจ โดย 6 เดือนที่ผ่านมา สามารถสร้างการรับรู้กว่า 19 ล้านการรับรู้ หรือกลุ่มเป้าหมายกว่า 1.2 หมื่นคนที่เข้าเว็บไซต์

 

เจนเนอราลี่ เร่งผลิตที่ปรึกษา

กรสยาม นนทรัตน์

          ทั้งนี้ภายใต้กลยุทธ์ 3 ปี(2562-2564) บริษัทตั้งเป้าจะต้องมี FP ที่ 4,000 คนในปี 2564 โดยสร้างเบี้ยรับรวมผ่านช่องทางตัวแทน 280 ล้านบาทต่อเดือน หรือมีเบี้ยเฉลี่ย 2.4-2.5 หมื่นบาทต่อราย จากปัจจุบันที่ช่องทางตัวแทนสร้างรายได้เกือบ 30% ของเบี้ยรับรวม ส่งผลให้ช่องทางตัวแทนของบริษัทขยับขึ้นมาติดใน Top5 ของตลาดได้ไม่ยาก โดยปัจจุบันมีตัวแทน ถึง 69-70% ของตัวแทน FP ทั้งหมด

               สำหรับโครงการเดอะ ไลอ้อน รอร์ต้องการเห็นช่องทางตัวแทนเติบโตเฉลี่ย 23-25% ต่อปี โดยมีเป้าหมายตัวแทน FP ที่ 707 คนในปี 2562 แต่ก็อยากให้ถึง 1,000 คน จากพนักงานที่มีกว่า 2,000 คน หลังจากช่วง 6 เดือนแรก มีตัวแทน FP แล้ว 260 คน มีเบี้ยเฉลี่ย 2.1-2.4 หมื่นบาทต่อราย ส่งผลให้เบี้ยรับรวมเฉลี่ยที่ 50-70 ล้านบาทต่อเดือน โดยทั้งปี 2562 ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมช่องทางตัวแทนที่ 442 ล้านบาท

            อย่างไรก็ดี การพัฒนาตัวแทน FP มีแนวทางปฏิบัติ 4 ด้านคือ R-Recruitment การเฟ้นหาที่ปรึกษาทางการเงิน เข้าร่วมโปรเจ็กต์ ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโปรเจ็กต์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีตัวแทนสมัครเข้าร่วมเป็นทีมที่ปรึกษาทางการเงินรุ่นใหม่ FP แบบ full time สูงถึง 227 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้น คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อเดือน

ด้านที่ 2 คือ O-Onboarding การจัดหลักสูตรมาตรฐานเพื่อเสริมทักษะความรู้ พัฒนาสมรรถนะ FP ให้สามารถเติบโตในสายอาชีพประกันได้อย่างยั่งยืน โดยได้พัฒนาหลักสูตร “เจน สตาร์ท อัพ (GEN START UP)”ขึ้น เพื่อเสริมทักษะความรู้ขั้นพื้นฐานสู่การพัฒนาเป็น FP มืออาชีพ โดยมีทีม Coaching manager : MC คอยดูแลตลอดเส้นทาง ปัจจุบันมีกว่า 100 คนและล่าสุดมี “สวาททีม (SWAT TEAM)” ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์และให้คำปรึกษาพร้อมแนวทางแก้ไขและพัฒนาศักยภาพของตัวแทน โดยประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หัวหน้าภาค (Zonal Head) Group Manager (GM) Sales Manager (SM), Sales Development & Coaching Teams ซึ่งจะทำให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น

               ส่วนด้านที่ 3 คือ A-Activation การบริหารกิจกรรมการขาย บริษัทพัฒนาเทคโนโลยี GEN TOUCH เพื่อช่วยให้ FP วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ และสร้างกิจกรรมการขาย Model Week และด้านสุดท้าย R-Retention การรักษามาตรฐานและคุณภาพ มีโครงสร้างรายได้ที่มั่นคงที่จะเป็นหลักประกันให้ตัวแทนมั่นใจและตัดสินใจร่วมงานกับบริษัท ล่าสุดเรามีเครื่องมือที่เรียกว่า GEN Dashboard ซึ่งเป็นดิจิทัล แพลตฟอร์มที่จะช่วยให้ทีมบริหารสามารถดูแล FP ได้อย่างทั่วถึง มีระบบ AI & Machine learning ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาและหาทางแก้ได้อย่างทันท่วงที

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,486 วันที่ 11 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2562