มหากาพย์ “จำนำข้าว” 8 ปี รัฐบาล เหตุไฉนยังปิดบัญชีไม่ลง

19 ก.ย. 2565 | 03:02 น.

ถอดรหัส 8 ปี มหากาพย์จำนำข้าว “ประยุทธ์” นั่ง 2 รัฐบาลยังปิดบัญชีไม่ได้ เปิดเหตุผล อคส. ขายข้าว 2.18 แสนตัน ยังไม่สำเร็จ ปิด 1,524 คดียังไม่ลง ชาวนาลุ้นเพื่อไทยรีเทิร์น "รับจำนำข้าวทุกเมล็ด" นับถอยหลังรัฐบาลหมดวาระ ขณะบางส่วนพ้อไม่เคยได้ประโยชน์ เจ้าของนาเอาไปกินเรียบ

"โครงการรับจำนำข้าว ได้สิ้นสุดลงไปแล้วนับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2557 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน รัฐบาลภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมเวลา 8 ปีแล้ว โครงการฯยังปิดบัญชีไม่ได้ ต้องขยายระยะเวลาออกไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566  จากข้าวที่รับจำนำมายังระบายไม่หมดในส่วนขององค์การคลังสินค้า (อคส.) รวมถึงการเร่งรัดดำเนินคดีทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่อง 1,524 คดี (อคส.และ อ.ต.ก.)

 

แหล่งข่าวจากองค์การคลังสินค้า (อศส.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดผลการดำเนินการระบายข้าวและปริมาณข้าวสารคงเหลือของรัฐในคลังกลางของ อคส. ณ วันที่ 31 ก.ค. 2565 มีปริมาณ 218,439.587 ตัน ซึ่งผู้ประกอบการยังไม่ขนย้ายข้าวออกจากคลัง จากเหตุผลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการขนย้ายข้าวออกจากคลัง ปัญหาโต้แย้งเรื่องคุณภาพข้าวจากผู้ซื้อ รวมทั้งการดำเนินคดีกับคู่สัญญา (ในส่วนของ อคส.) รวม 1,143 คดี (คดีปกครอง 246 คดีอาญา 897 คดี) ในจำนวนนี้คดีถึงที่สิ้นสุดแล้ว 63 คดี (กราฟิกประกอบ)

 

 

 

มหากาพย์ “จำนำข้าว”  8 ปี รัฐบาล เหตุไฉนยังปิดบัญชีไม่ลง

 ทั้งนี้ในส่วนของข้าวที่ยังปิดบัญชีไม่ได้ จากปัญหาข้าวในคลังกลางเป็นการดำเนินการตามมติคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว เป็นข้าวสาร กว่า 6.2 หมื่นตัน จำนวน 8 จังหวัด ใน 9 คลังสินค้า ซึ่งจำหน่ายให้กับผู้ซื้อดังนี้ (1 ) ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหพืชผลท่าตูม (หจก.) หลัง 1 จ.สุรินทร์ ปริมาณ 1,113.750.25 ตัน ในคลังฯของ หจก.นำแสงค้าข้าว ที่เป็นคู่สัญญากับ อคส. โดยผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบข้าวสารเนื่องจากข้าวไม่ได้คุณภาพ (อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง)

 

 

2.บริษัท สุพรีมไลฟ์เอเจนซี่ จำกัด (บจก.) หลัง 3 จ.ชัยนาท 33,750.285 ตัน คลังฯของ บจก.ชิงตั๊ก กรุ๊ป ผู้ซื้อพบข้าวสารปลอมปน(อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง) 3.บจก.เจ อาร์ ดีไบร์ท มอเตอร์อินดัสทรีส์ หลัง 1 จ.สงขลา 14,127.024 ตัน คลังฯของ บจก.วัฒนพร อินเตอร์โกลเด้นไรซ์ ผู้ซื้อไม่สามารถรับมอบข้าวสารได้โดยระบุจากเจ้าของคลังยึดหน่วง และเจ้าของคลังฯ ไม่ใช่คู่สัญญากับ อคส. แต่เป็นการเช่าช่วง ศาลจังหวัดสงขลา ให้ อคส. ทำสัญญาเช่ากับเจ้าของคลังโดยตรง และ อคส. ดำเนินการแล้ว

 

 4.บจก.เจ อาร์ ดีไบร์ท มอเตอร์ อินดัสทรีส์ หลัง 2 จ.สงขลา 9,994.552 ตัน คลังฯ ของ บจก.ธนสรรไรซ์ ผู้ซื้อไม่สามารถรับมอบข้าวสารได้ เนื่องจากเจ้าของคลังยึดหน่วง และเจ้าของคลังฯ ไม่ใช่คู่สัญญากับ อคส. แต่เป็นการเช่าช่วง ศาลจังหวัดสงขลา ให้ อคส. เช่ากับเจ้าของคลังโดยตรง และ อคส.ดำเนินการแล้ว 5.หจก.เอเอเอเอเอ นำเข้า หลัง 1 จ.บุรีรัมย์ 75.247 ตัน คลังฯของ บจก.เจียเม้ง ผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบเนื่องจากข้าวสารไม่ได้คุณภาพ(อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง)

 

 6.คลังสินค้า 5 ข้าว หลัง 4 จ.อุทัยธานี ปริมาณ 973.113 ตัน คลังฯของ บจก.ไทย แกรนลักซ์ อินตอร์เนชั่นแนล ผู้ซื้อรับมอบข้าวสารครบตามสัญญา แต่ยังมีปริมาณข้าวสารคงเหลือในคลัง 7.หจก.แสงฟ้าโปรดิวซ์ หลัง 12 จ.กำแพงเพชร 2,298.431  ตัน คลังฯของ บจก.วีออร์แกนนิก ระบุผู้ซื้อทำผิดสัญญาซื้อขาย (อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง)

 

8.ท่าข้าวเกษตรเฟื่องฟ้า หลัง 2 จ.นครสวรรค์ 301.096 ตัน คลังฯ บจก.จิรชัยโปรดิวส์ ผู้ซื้อไม่สามารถรับมอบข้าวสารเนื่องจากมีสิ่งปลอมปน  (อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง) และ 9. คลังสินค้าเมืองเจริญ หลัง 1 จ.ลำพูน 299.328 ตัน คลังฯของ บจก.เชียงรายกิจศิริไซโล 1995 ผู้ซื้อไม่สามารถรับมอบข้าวสารได้ เนื่องจากผิดชนิด (อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง)

 

 

ส่วนข้าวนอกคลังกลาง (ข้าวคงเหลือในโรงสี) ได้แก่ 1.คลังฯของ หจก.โรงสีตั้งแซเยี้ยง จ.ศรีสะเกษ ข้าวเปลือก  5,984.928 ตัน โดย บจก.ธนสรรไรซ์ ผู้ซื้อไม่สามารถรับมอบข้าวได้ เนื่องจากเจ้าของโรงสีเรียกค่าใช้จ่ายขนย้ายข้าวสูงกว่าท้องตลาด อคส.ยกเลิกสัญญาซื้อขาย 2.คลังฯของ หจก.โรงสีข้าวธัญญะรุ่งเรืองชัย จ.นครราชสีมา ข้าวสาร 5,521.587 ตัน โดย หจก.โรงสีข้าวธัญญะรุ่งเรืองชัย ผู้ซื้อข้าวในคลังตัวเองไม่ชำระเงินและรับมอบข้าวสารให้แล้วเสร็จ อคส. ยกเลิกสัญญาซื้อขาย และดำเนินคดี (ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้ผู้ซื้อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ)

 

ด้านแหล่งข่าวจากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เผยว่า ในส่วนของ อ.ต.ก. ได้ระบายข้าวในคลังเสร็จสิ้นแล้ว อย่างไรก็ดี อ.ต.ก. ได้มีการดำเนินคดีปกครองกับคู่สัญญา จำนวน 90 คดี มูลค่าความเสียหาย 142,024  ล้านบาท ดังนี้ 1.อยู่ระหว่างอุทธรณ์คดี 6 คดี 2.อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล 84 คดี 3.การดำเนินคดีอาญา 291 คดี แบ่งเป็นอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน จำนวน 6 คดี  อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) 212 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 12 คดี  อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ 45 คดี คดีเสร็จสิ้นแล้ว 16 คดี ทั้งนี้หากปิดบัญชีก่อนที่จะมีคำพิพากษาของศาล อาจเกิดความเสียหายต่อทางราชการได้ จึงได้ขอขยายเวลาโครงการ

 

แหล่งข่าวคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยว่า ได้มีมติเห็นชอบตามที่ อ.ต.ก.และ อคส.เสนอให้ขยายระยะเวลาโครงการฯ พร้อมเร่งรัดให้ อคส.ระบายข้าวคงเหลือให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ และให้ทั้ง 2 หน่วยงาน รายงานความคืบหน้าในการดำเนินคดีรวมทั้งการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการให้ฝ่ายเลขานุการทราบเป็นประจำทุกเดือนเพื่อรายงาน นบข. ต่อไป

 

หากย้อนไป (2 ก.ค.2557) จากการรายงานตรวจสต๊อกข้าวที่รับจำนำมามีปริมาณ 18.70 ล้านตันข้าวสาร แต่หลังจากการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว รายงานปริมาณในข้าวโกดังข้าว เหลือเพียง 17.76 ล้านตัน ทำให้มีตัวเลขส่วนต่างทางบัญชีหายไป 9.4 แสนตัน ที่อยู่ในความดูแลของ อคส. และ อ.ต.ก. ล่าสุดพบว่าเป็นข้าวในและ นอกคลังกลาง ที่ไม่มีผลตรวจวิเคราะห์คุณภาพข้าว (ข้าวที่ไม่มีสัญญาเช่าคลัง ข้าวที่ไม่มีผลตรวจวิเคราะห์ ข้าวที่โรงสี และข้าวที่ผู้รับปรับปรุงข้าวถุง)

 

มหากาพย์ “จำนำข้าว”  8 ปี รัฐบาล เหตุไฉนยังปิดบัญชีไม่ลง

 

แหล่งข่าวจากกลุ่มเกษตรกรชาวนา  กล่าวว่า ดีใจที่พรรคเพื่อไทย โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร(อุ๊งอิ๊ง) หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีสมัยหน้า ได้ระบุอาจจะมีการสานต่อนโยบายรับจำนำข้าวหากได้เป็นรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพราะโดยคอนเซปต์ยังเป็นสิ่งที่ดี ทั้งนี้ชาวนาจำนวนมากนับวันรอ ขณะที่ชาวนาบางส่วนที่เป็นนาเช่า ตัดพ้อไม่เคยได้ประโยชน์ จากเจ้าของนาเป็นผู้ขึ้นทะเบียนรับผลประโยชน์เอง

 

 อนึ่ง โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 พืช ปีที่ 4 ของรัฐบาล กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็ววัน (ยังไม่รวมโครงการใหม่) ทั้งนี้จากยอดยกมา ภาระทางการคลังจากโครงการตามนโยบายรัฐ รัฐบาลมีหนี้สะสมเฉพาะกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) ในโครงการอุดหนุนสินค้าเกษตร ณ วันที่ 31 ก.ค. จำนวน 878,806.40 ล้านบาท

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 18-21 กันยายน 2565