ดอกเบี้ยขาลง! หลังกนง. หั่นเหลือ 1.75% SCB EIC คาดแตะ 1.25% สิ้นปีนี้

06 พ.ค. 2568 | 08:20 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2568 | 08:26 น.

กนง. มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือ 1.75% รับเศรษฐกิจชะลอ-เงินเฟ้อต่ำ ด้าน SCB EIC คาดอาจลดต่ออีก 2 ครั้ง เหลือ 1.25% ภายในสิ้นปีนี้

หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.00% เหลือ 1.75% ซึ่งเป็นการปรับลดต่อเนื่องเพื่อรับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ต่ำกว่าคาดการณ์ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย

ในการประชุมครั้งนี้ กนง. ไม่ได้ให้ตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่สะท้อนมุมมองผ่าน “ฉากทัศน์” จากความไม่แน่นอนที่ยังสูงมาก โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับระยะเริ่มต้นของพายุ (Storm) ที่จะส่งผลกระทบมากขึ้นในครึ่งปีหลัง โดยจุดจบของพายุดังกล่าวซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การค้า และการเงินของโลกยังไม่ชัดเจน

โดย กนง. ประเมินชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยภายใต้ 2 ฉากทัศน์ ได้แก่

  1. Reference Scenario ถ้าหากสหรัฐฯ ยังคงระดับภาษีนำเข้าไว้ตามปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยในปี 2025 และ 2026 จะเติบโต 2.0% และ 1.8% ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.5% และ 0.8%
  2. Alternative Scenario  ถ้าหากสหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีตอบโต้เพียงบางส่วน และเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 1.3% และ 1.0% ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำที่ 0.2% และ 0.4%

จากข้อมูลทั้งหมด กนง. ชี้ชัดว่านโยบายการเงินจำเป็นต้องอยู่ในระดับ “ผ่อนคลาย” เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถปรับตัวได้ท่ามกลางภาวะที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยไม่ใช้คำว่า “วงจรผ่อนคลายดอกเบี้ย” (Easing Cycle) อย่างเป็นทางการ เนื่องจากลักษณะของแรงกระแทกไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลันเหมือนช่วงวิกฤตการเงินโลก

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า กนง. มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี 2568 ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยลดลงไปแตะระดับ 1.25% ภายในสิ้นปี ทั้งนี้เพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจที่ยังเผชิญแรงกดดันจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง

SCB EIC ยังระบุว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตได้บ้าง แต่ความเสี่ยงในระยะข้างหน้ามีมากขึ้น โดยเฉพาะจากภาวะเงินเฟ้อที่ต่ำและความไม่แน่นอนทางการค้าโลกที่อาจยืดเยื้อไปจนถึงปี 2026 ทำให้การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะเช่นนี้