บทเรียนค่าไฟศรีลังกา กระจกส่องไทย เร่งจัดหาพลังงานสำรอง

14 ส.ค. 2565 | 04:52 น.

คณะกรรมการการไฟฟ้าของศรีลังกา (ซีอีบี) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าที่ผูกขาดโดยรัฐบาลของศรีลังกา ได้ประกาศขึ้นค่าไฟสำหรับกลุ่มผู้ที่ใช้ไฟน้อย 264% ขณะที่ผู้ที่ใช้ไฟมากจะถูกเรียกเก็บค่าไฟเพิ่มขึ้นราว 80% มีผลตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา

 

บทเรียนค่าไฟศรีลังกา กระจกส่องไทย เร่งจัดหาพลังงานสำรอง

 

ผลจากซีอีบีประสบปัญหาขาดทุนสะสมถึง 616 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ทำให้ต้องมีการปรับเพิ่มค่าไฟขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี

 

ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 30 หน่วยต่อเดือน จากที่เคยจ่ายค่าไฟ 54.27 รูปีต่อหน่วย หรือราว 5.40 บาทต่อหน่วย เพิ่มเป็นราว 20 บาทต่อหน่วย

 

การปรับเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการบริหารจัดการด้านพลังงานของรัฐบาลในอดีต ที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้าสำหรับวิกฤติราคาพลังงานโลกที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ที่ส่งผลให้ศรีลังกาต้องประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานอย่างหนักทั้งไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง

 

เหตุการณ์ดังกล่าว กำลังจะสะท้อนมายังไทย หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาระบุแล้วว่า ค่าไฟฟ้าหรือค่าเอฟทีงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 อาจจะต้องปรับขึ้นตามมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและผลจากเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยโดยรวมปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17%

 

การปรับค่าเอฟทีครั้งนี้ ยังไม่รวมการคืนหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่แบกรับต้นทุนเชื้อเพลิงมาตั้งแต่ปี 2564 ส่งผลให้ กฟผ.ต้องแบกรับภาระค่าเอฟทีสะสมราว 1.7 แสนล้านบาท

 

ภาระค่าเอฟที กฟผ. ได้แบกรับมาตั้งแต่ปี 2564 นี้เอง จะมีผลให้ค่าไฟฟ้าในปี 2566 จะต้องปรับต่อเนื่องจากที่คงค้างไว้อยู่ 143.54 สตางค์ต่อหน่วย หรือ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.23 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 53% สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า 300 หน่วยขึ้นไป ซึ่งช่วยลดผลกระทบ กฟผ. ได้รับเงินคืนที่แบกรับไว้ 83,010 ล้านบาท เท่านั้น

 

บทเรียนค่าไฟศรีลังกา กระจกส่องไทย เร่งจัดหาพลังงานสำรอง

 

เหตุที่ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น มาจากราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับปริมาณก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำ จากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงต่อเนื่อง ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG แบบสัญญาจร (Spot LNG) ที่มีต้นทุนแพงกว่าก๊าซฯในอ่าวไทย มาทดแทนอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าและใช้ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

 

จะเห็นได้ว่า จากปริมาณก๊าซในอ่าวไทยและเมียนมาที่ลดลงต่อเนื่อง จะส่งผลให้ประเทศต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในรูป Spot LNG ที่มีราคาแพงอย่างต่อเนื่องและในปริมาณที่มากขึ้น จากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ราว 4 ล้านตัน ในขณะที่ปัจจุบันมีสัญญาระยะยาวที่มีราคาถูกเพียง 5 ล้านตันต่อปีเท่านั้น หากรัฐบาลไม่มีการวางแผนในการหาแหล่งพลังงาน ประเทศจะยิ่งประสบปัญหาวิกฤติราคาและการขาดแคลนพลังงานมากยิ่งขึ้น  

 

จึงมีคำถามเกิดขึ้นมา ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่รัฐบาลจะต้องเร่งจัดหาแหล่งพลังงานราคาถูกและสะอาดมาสำรองไว้ใช้ในอนาคต เพื่อไม่สร้างผลกระทบค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อลูกหลานในภายหน้า เพราะปัจจุบันประเทศใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า 2,556 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นสดัส่วนราว 60% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ในปริมาณนี้เป็นก๊าซที่มาจากอ่าวไทย 45% เมียนมา 20% และนำเข้า LNG 35% ซึ่งในส่วนนี้เป็น Spot LNG เกือบครึ่งหนึ่ง

 

หลายฝ่ายออกมาชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจากการเร่งเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 ในทะเลอ่าวไทยจำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 ซึ่งจะเปิดให้ยื่นซองได้ต้นเดือนกันยายนนี้ และได้ผู้ชนะลงนามสัญญาได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 แล้ว คงจะยังไม่เพียงพอ แม้จะสำรวจพบก๊าซฯ แต่ปริมาณจะไม่มาก รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเจรจาพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่า เป็นแหล่งใหญ่ที่สามารถป้อนก๊าซฯให้กับไทยได้หลายสิบปี ทำให้ประเทศสามารถพึ่งก๊าซฯราคาถูกและสะอาด ช่วยลดผลกระทบค่าไฟฟ้าในอนาคตได้

 

เพราะหากการเจรจายังล่าช้า จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการจัดหาพลังงานของประเทศมากยิ่งขึ้น หากเจรจาได้ข้อยุติวันนี้ กว่าจะผลิตก๊าซฯขึ้นมาได้ ก็จะต้องใช้เวลาในการพัฒนาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งยังนึกไม่ออกว่าเมื่อถึงวันนั้นแล้วค่าไฟฟ้าของประเทศจะปรับตัวไปถึงระดับไหน