จากบทเรียน “วิกฤตศรีลังกา” ประเทศไหนเสี่ยงเป็นรายต่อไป

18 ก.ค. 2565 | 02:32 น.

เศรษฐกิจและการเมืองในศรีลังกาเข้าสู่จุดวิกฤตอย่างรุนแรงแม้จนกระทั่งขณะนี้ ที่กำลังจะมีการจัดตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" ขึ้นมาบริหารวิฤตของประเทศให้ผ่านพ้นไปให้ได้ รายงานของยูเอ็นระบุ ยังมีอีกหลายประเทศในโลก เสี่ยงเดินตามรอยศรีลังกา ในจำนวนนี้อยู่ในเอเชีย 3 ประเทศ  

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐสภาศรีลังกา กำลังจะเลือก ประธานาธิบดีคนใหม่ ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ โดยนาย มหินธา ยาปา อะเบย์วาร์เดนา ประธานสภาผู้เเทนราษฎร เปิดเผยว่า หลังการประชุมสภาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (15 ก.ค.) อีก 5 วันถัดจากนั้นจะมีการลงมติเลือกประธานาธิบดีคนใหม่กัน

 

ทั้งนี้ วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาเกิดจากปัจจัยภายในประเทศ ทั้งการบริหารที่ผิดพลาด รวมถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่เรื้อรังมานาน นอกจากนั้น ภาคการท่องเที่ยวของประเทศยังได้รับผลกระทบรุนเเรงตั้งแต่เหตุระเบิดโจมตีโบสถ์ในวันอีสเตอร์ที่คร่าชีวิตเหยื่อกว่า 260 คนเมื่อ 3 ปีก่อน หลังจากนั้นก็มาถูกซ้ำเติมด้วย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศต้องหยุดชะงักลงในทันที สภาพคล่องทางการเงินของศรีลังกาประสบปัญหาใหญ่เมื่อรายได้การท่องเที่ยวสะดุดขัด ส่งผลกระทบต่อมาตรการกระตุ้นรายได้เพื่อชดเชยภาระหนี้ต่างชาติที่ใช้ในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมทั้งการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่จะนำไปใช้ในการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นและพลังงานเชื้อเพลิง

ศรีลังกาเดินทางมาสู่การพังครืนของเศรษฐกิจพร้อมกับหนี้ 51,000 ล้านดอลลาร์ ที่ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวได้ ราคาสินค้าภายในประเทศพุ่งสูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมัน อาหาร ยา รวมถึงของใช้จำเป็นอีกหลายรายการ โดยต้นทุนราคาอาหารในศรีลังกาพุ่งสูง 57% รัฐต้องเร่งหาเงินมากู้เศรษฐกิจเป็นการด่วนผ่านการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมทั้งการเจรจากับประเทศคู่ค้าอย่างจีน

 

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า หากพิจารณาประเทศต่าง ๆ ในโลก ยังมีประเทศใดบ้างที่มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกับศรีลังกา  ทั้งนี้ พิจารณาจากการที่ ยังมีอีกหลายประเทศมีการบริหารจัดการและพื้นฐานการเงินที่ไม่สามารถรับมือมรสุมจากเศรษฐกิจโลกได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อสงครามในยูเครนทำให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น

 

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ข้อมูลจากกลุ่มงาน Global Crisis Response Group ภายใต้สำนักของเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ชี้ว่า มีประชากรโลก 1,600 ล้านคนใน 94 ประเทศ ที่กำลังประสบอย่างน้อยหนึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตด้านอาหาร วิกฤตพลังงาน หรือวิกฤตระบบการเงิน

รายงานดังกล่าวระบุว่า ในบรรดาประชากร 1,600 ล้านคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้ มี 1,200 ล้านคนที่อยู่ภายใต้องค์ประกอบที่ครบถ้วนของ "พายุ" ที่จะสั่นคลอนวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างรุนเเรง ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้น และผลกระทบระยะยาวด้านอื่นๆ

 

สำนักข่าวเอพี ยกตัวอย่าง 9 ประเทศ ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงรุนเเรงมากที่สุด ได้เเก่

  • อัฟกานิสถาน
  • อาร์เจนตินา
  • อียิปต์
  • เลบานอน
  • ตุรกี
  • ซิมบับเว
  • ลาว
  • เมียนมา
  • ปากีสถาน

 

สำหรับประเทศในเอเชีย เหตุผลที่ ปากีสถาน ถูกกล่าวถึง เนื่องจากปากีสถานเองก็กำลังเจรจากับ IMF เช่นเดียวกับศรีลังกา เพื่อต่ออายุเงินช่วยเหลือวงเงิน 6,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งโครงการช่วยเหลือดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงหลังจากที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอิมราน คาน ถูกขับออกไปเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปากีสถานยังต้องต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่ 21% และค่าเงินรูปีที่อ่อนลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงปีที่ผ่านมา

 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ธนาคารโลกต้องออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจมหภาคของปากีสถานกำลังเอนเอียงอย่างรุนเเรงไปสู่ทิศทางขาลง

 

ส่วน เมียนมา ตกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตได้เหมือนศรีลังกา เนื่องจากการระบาดของโคโรนาไวรัสและความไม่มั่นคงทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ถาโถมใส่เศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะตั้งเเต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางออง ซาน ซู จีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา (2564)

 

ผลจากการยึดอำนาจของทหารคือ โลกตะวันตกใช้มาตรการลงโทษต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวมากถึง 18% ในปี 2564 เเละอาจจะเติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในปีนี้ (2565) นั่นยังไม่รวมถึงความทุกข์ยากของประชากรกว่า 700,000 คนที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่ของตน เนื่องจากความขัดเเย้งที่มีการใช้อาวุธหนักปะทะกันและจากความรุนเเรงทางการเมือง

 

ในส่วนของ ลาว นั้น เป็นประเทศขนาดเล็กที่ไม่มีดินเเดนติดทะเล แม้จะเคยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย แต่เมื่อต้องมาพบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนจำนวนมากต้องตกงาน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็เริ่มน่าเป็นห่วง  

 

และเช่นเดียวกับศรีลังกา หนี้ภาครัฐของลาวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ค่าเงินกีบของประเทศอ่อนค่าลงถึง 30% จนรัฐบาลต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจากับ IMF  ปัจจุบัน หนี้ของลาวอยู่ที่ระดับ 14,500 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 5.14  แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 88% ของจีดีพี ทำให้ลาวเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้

 

ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มูดี้ส์ (Moody’s) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน ได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของลาวมาอยู่ที่ระดับ Caa3 ซึ่งหมายถึง “มีภาระหนี้ที่สูงมาก และมีเงินสำรองสกุลเงินต่างประเทศไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ต่างประเทศที่กำลังจะครบกำหนดชำระ