กรมวิชาการเกษตร เปิด “เวทีวิจัยสัญจร นวัตกรรมการพัฒนาที่เชื่อมใจชุมชน”

12 ก.ค. 2565 | 05:25 น.

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เตรียมเปิด “เวทีวิจัยสัญจร นวัตกรรมการพัฒนาที่เชื่อมใจชุมชน” ปูพรมไปทุกจังหวัดที่ กวก. มีสำนักงานทั่วประเทศ จะจัดเดือนละ 1-2 ครั้ง

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  เวทีวิจัยสัญจร คือ การจัดเวทีประชุมของนักวิจัย นักพัฒนา นักส่งเสริม เกษตรกร และผู้มีส่วนได้เสียในการพัฒนาการผลิตพืช โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้ ความคิด ผลงานวิจัย ภูมิปัญญา และประสบการณ์ในการทำการเกษตร ในจัดเวทีวิจัยสัญจร จะจัดเวทีประชุมที่บ้านและไร่นาเกษตรกรหมุนเวียนกันไปในแต่ละรายประมาณ เดือนละ 1-2 ครั้ง กิจกรรมที่ดำเนินการในการจัดเวทีวิจัยประกอบด้วย

 

1. ของฝากจากเพื่อนบ้าน เพื่อรื้อฟื้นวัฒนธรรมการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยผู้มาร่วมเวทีนำพันธุ์พืช หรือผลผลิต ไปเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เจ้าของบ้านที่ไปเยี่ยมเยียน หรือแลกเปลี่ยนกันกับเพื่อนบ้านที่มาร่วมเวที  

 

2.เรื่องเล่าจากเจ้าของบ้าน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยเจ้าของบ้านจะเล่าชีวประวัติ ประสบการณ์การทำงาน การต่อสู้ชีวิต ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน จะทำให้ผู้ร่วมเวทีได้เพิ่มความรู้จักกันมากขึ้น และได้ข้อคิดในการดำเนินชีวิต นอกจากนั้นจะเป็นการฝึกให้เจ้าชองบ้านได้ฝึกฝนการพูดต่อที่ประชุม  

 

3. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำการเกษตร เพื่อการศึกษา เรียนรู้ แบ่งปันภูมิปัญญาความรู้ ประสบการณ์ การร่วมอภิปราย และแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาในแปลงปลูกพืช โดยการเดินศึกษาเทคนิคการปลูก ผลการปลูก เทคนิคการแก้ไขปัญหา การปลูกพืชของบ้านที่ไปเยี่ยมเยียน และกระตุ้นในผู้ร่วมเวทีได้มีการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาเทคนิคความรู้กันและกัน จะทำให้ผู้ร่วมเวทีได้ความรู้จากต่าง ๆ และนำไปทดลองทำที่บ้าน

 

 

4.การสาธิต การให้ความรู้วิชาการ และติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อให้ภาคส่วนการพัฒนาได้เพิ่มเติมความรู้ใหม่แก่เกษตรกร และเป็นการกระตุ้นการติดตามความก้าวหน้าในโครงการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งเกษตรกรแต่ละคนจะได้นำเสนอผลการดำเนินงานของตนเอง เป็นการฝึกให้เกษตรกรกล้าที่นำพูดในที่ประชุมไปในตัว

 

5.การรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคี ซึ่งแต่ละคนอาจยกปิ่นโตนำอาหารมากินร่วมกัน เป็นต้น

 

กรมวิชาการเกษตร เปิด “เวทีวิจัยสัญจร นวัตกรรมการพัฒนาที่เชื่อมใจชุมชน”

 

สำหรับการจัดเวทีวิจัยสัญจร เกิดมาจาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร โดยนายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และ คณะ ได้ทำการศึกษากระบวนการในการพัฒนาการผลิตพืชในชุมชนเกษตร ซึ่งเริ่มทดลองใช้รูปแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดยมีหลักคิดมาจากรากฐานชุมชนเกษตรดั้งเดิมที่อยู่อาศัยกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน มีความเชื่อถือและศรัทธาในความรู้ความสามารถของผู้นำทางการพัฒนา

 

หรือทางวัฒนธรรม มาผสมผสานกับแนวทางของการวิจัยและพัฒนาแบบชุมชนมีส่วนร่วม เช่น งานวิจัยระบบการทำฟาร์ม (farming system research) การวิจัยในไร่นา (on-farm research) การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (participatory action research) การวิจัยท้องถิ่น (community based/ area based research) เป็นต้น หลังจากการทดลองใช้กระบวนการเวทีวิจัยสัญจรมาหลายปี

 

เช่น ในการวิจัย “รำแดงโมเดล: เกษตรตามศาสตร์พระราชา” เพื่อการพัฒนาการผลิตพืชที่พอเพียงและยั่งยืนของชุมชนเกษตร ทดลองใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านวิชาการเกษตร และ ทดลองใช้ในงานวิจัยทดลองขยายการผลิตแปลงใหญ่ โดย สวพ.1-8 เป็นต้น หลังจากนั้นจึงได้สรุปเป็นแนวทางที่ให้นักวิจัยพัฒนา ส่งเสริม นำไปใช้ในกระบวนการพัฒนาทางด้านการเกษตร

 

 

ผลลัพธ์ที่เกิดจากการจัดเวทีวิจัยสัญจร

 

1. ทำให้เกิดการพัฒนาระบบการผลิตพืชได้รวดเร็ว กล่าวคือจากการได้ไปพบเห็นการปลูกพืชของเพื่อนบ้านทำให้แต่ละครัวเรือนมีการตื่นตัวเพิ่มการปลูกพืชชนิดใหม่ ๆ และนำภูมิปัญญาการผลิตใหม่ๆ ที่ตนเองยังไม่เคยดำเนินการมาทดลองทำ ข้อสังเกตประการหนึ่งที่พบคือ แรงกระตุ้นจากการจะต้องเป็นเจ้าภาพในการต้อนรับการศึกษาดูงานของสมาชิก ทำให้เกษตรกรที่จะรับเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไปต้องเตรียมความพร้อมเพื่อแสดงผลงาน ซึ่งจะได้ไม่เกิดการเสียหน้าเวลาเพื่อนบ้านมาเยี่ยมชม (ภาษาใต้ใช้คำว่าบัดสีเพื่อน หมายถึงไม่ได้ทำอะไร ไม่มีการพัฒนาอะไรที่พอให้คนอื่นได้สนใจ)

 

2. ทำให้เกิดการพัฒนาการดำรงชีพ กล่าวคือ ได้เพิ่มทุนทางสังคม และเพิ่มทุนมนุษย์ เช่น เกิดวัฒนธรรมดีงามในความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเชื่อมความสัมพันธ์เพื่อนพี่น้อง มีการช่วยเหลือแรงงาน ช่วยแก้ปัญหาการผลิตพืช ร่วมกันวิเคราะห์วางแผนประเมินผลได้เสียก่อนการปลูกพืช วิเคราะห์ตลาดการลดต้นทุนการผลิตได้เกิดการเรียนรู้แนวความคิดการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง

 

เกิดการสร้างเครือข่ายทางสังคมและการเชื่อมโยงเป็นพันธมิตรทางด้านการปลูกพืชตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่หลากหลาย เช่น ผู้นำในท้องถิ่น ผู้นำเกษตรกร สถาบันการศึกษา ส่วนราชการ และที่ชัดเจนมากประการหนึ่ง คือได้พัฒนาความสามารถในการพูดการเป็นวิทยากรบรรยาย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรรู้สึกมีความภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือผู้อื่น และทำให้สังคมเกิดการยอมรับในตัวต้นแบบ มีชื่อเสียงมากขึ้น มีหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาให้ร่วมกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น

 

3. ได้องค์ความรู้เพื่อการพัฒนา คือ การจัดเวทีวิจัยสัญจร พบว่าเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาการปลูกพืชตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีเชื่อมโยงการจัดการความรู้ 3 ฝ่าย คือ เกษตรกรสู่เกษตรกรและนักวิจัย เป็นวิธีที่ได้ผลสัมฤทธิ์สูงกว่าการอบรมเชิงบรรยายที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

 

จุดเด่นของการจัดเวทีวิจัยสัญจร คือความรู้ถูกถ่ายทอดจากเกษตรกรสู่เกษตรกรด้วยความไว้วางใจ การเป็นเพื่อนพี่น้อง มีสถานะทางสังคมใกล้เคียงกัน และมีนักวิจัยคอยสนับสนุนข้อมูลเชิงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และจัดกระบวนการให้แต่ละคนได้นำภูมิปัญญามาแลกเปลี่ยน ภายใต้สถานการณ์จริงของไร่นาเกษตรกร องค์ความรู้นี้สามารถนำไปใช้กับการพัฒนาอื่นๆได้

 

4.ข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มประสิทธิผล การจัดเวทีวิจัยสัญจร คือ นักวิจัย นักพัฒนาผู้ที่ทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการ ต้องพยายามกระตุ้นให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เนื่องจากเกษตรกรแต่ละคนมีพื้นฐานความสามารถที่แตกต่างกัน และนักพัฒนาควรมีข้อมูลวิชาการที่เป็นสหสาขาพร้อมจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมในทุกประเด็นที่เกิดขึ้นในเวที

 

เวทีวิจัยสัญจร การนำไปใช้ประโยชน์สามารถปรับเป็นเวทีสัญจร เวทีเยี่ยมบ้านเกษตรกร ตามความเหมาะสมของงานที่ดำเนินการ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จะขยายแนวทางนี้ไปทุกจังหวัดที่ กวก. มีทั่วประเทศ