เช็กด่วน “กรมทรัพยากรธรณี” เตือนพื้นที่เสี่ยง 54 จังหวัด ดินถล่ม

15 มิ.ย. 2565 | 08:28 น.

“สุวิทย์” รองโฆษกกรมทรัพยากรธรณี เปิดพื้นที่เสี่ยงภัย “ดินถล่ม” รับฤดูฝน ปี 2565 เผย 54 จังหวัด 517 อำเภอ 2,845 ตำบล กว่า 1.83 หมื่นหมู่บ้าน เช็คได้เลย มีที่ไหนบ้าง

ธรณีพิบัติภัย”  เป็นภัยที่เกิดตามธรรมชาติ อาทิ ดินถล่ม ดินไหล แผ่นดินไหว และหลุมยุบ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากธรณีพิบัติภัยอาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ขึ้นกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่เกิดเหตุ ขนาด และความรุนแรงของธรณีพิบัติที่เกิดขึ้น ซึ่งในปัจจุบันเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยได้ทวีความรุนแรงและมีความถี่ของการเกิดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

 

การลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากธรณีพิบัติจำเป็นต้องประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อธรณีพิบัติภัยของพื้นที่ต่างๆ กำหนดขอบเขตพื้นที่เสี่ยงธรณีพิบัติต่างๆ หาแนวทางหรือมาตรการป้องกัน/แก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งสร้างระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยที่อาศัยข้อมูลที่มีความถูกต้อง และทันสมัย ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่จะนำมาเป็นระบบป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น

 

กรมทรัพยากรธรณี” ในฐานะหน่วยงานหนึ่งซึ่งมีภารกิจในการศึกษา วิจัย และประเมินสถานภาพความเสี่ยงธรณีพิบัติภัย รวมทั้งเฝ้าระวังเหตุธรณีพิบัติภัยในพื้นที่ทั่วประเทศ มีจำเป็นต้องวางระบบเครือข่ายและอุปกรณ์เตือนภัยหลากหลายประเภท เพื่อสนับสนุนการติดตามสถานการณ์และการเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยดินถล่ม เป็นประจำทุกปี

 

 

 

สุวิทย์ โคสุวรรณ

 

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ รองโฆษกกรมทรัพยากรธรณี  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ข้อมูลที่อัพเดทจากปีก่อนหน้านี้ จากเดิม 1400 ตำบล เป็น 1800 ตำบล เป็นเรื่องของการที่กรมทรัพยากรธรณีทำการอัพเดทข้อมูลรีรันโมเดลใหม่หมดทั้งประเทศ ข้อมูลฐานปัจจัยในการนำเข้าเหมือนเดิม 7 ปัจจัย ปัจจัยหลักก็คือ 1.การนำเข้าข้อมูลมีการละเอียดมากขึ้น แต่ฐานเดิม ที่มาตราส่วน 1 : 1,000,000  มีความละเอียดมากขึ้น  หรือ มาตราส่วนไม่เกิน 1 ต่อ 250,000  เพราะฉะนั้นความละเอียดของข้อมูลทำให้สามารถแยกย่อยหมู่บ้านต่างๆที่เกิดขึ้นใหม่  จับต้องหมู่บ้านเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้น

 

2. เทคโนโลยีการดึงข้อมูลปัจจัยมีความละเอี่ยดมากขึ้น โดยเฉพาะภาพดาวเทียมนำเข้าข้อมูลบางตัวมีความชัดเจนมากขึ้น ตัวเลขดิจิตอล ที่นำเข้ามาใช้ ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ฝนมาก น้ำมาก ระวัง ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก จะต้องมีความเฝ้าระวังเข้มข้น ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกของประเทศไทยตั้งแต่เดือน ตุลาคม พฤศจิกายน ที่จะต้องเฝ้าระวังพิเศษ

 

ส่วนภาคเหนือ กับภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม มิถุนายน ถึง สิงหาคม จะเป็นพื้นที่เฝ้าระวังเข้มข้น จะต้องพิจารณาช่วงเดือน และช่วงฤดูกาลด้วย ซึ่งในเรื่องของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบปีนี้กับปีที่แล้วไม่ต่างกันมาก แต่เรื่องความปลอดภัยในชีวิตประชาชนจะมีมากขึ้น เพราะเรามีความเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังมากขึ้น

 

กรมทรัพยากรธรณี ปีนี้มีความร่วมมือบูรณาการหลายหน่วยงาน เมื่อได้รับข้อมูลจะส่งไปที่เครือข่ายเฝ้าระวังดินถล่มของกรมทรัพยากรธรณี และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  และ กรมป่าไม้ ที่อยู่ในพื้นที่ ทางกรมได้แจกกระบอกวัดน้ำฝน ให้เฝ้าระวังวัดน้ำฝนแบบเรียลไทม์ส่งข้อมูลมาวิเคราะห์ เฝ้าระวัง เพื่อส่งข้อมูลไปยังเครือข่ายของกรม รวมทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และ ผู้นำชุมชุม ให้มีการเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงภัยให้มีการเฝ้าระวังมากขั้น 

 

"กระบอกวัดน้ำฝน" ที่แจกชาวบ้าน จะเป็นพื้นที่ป่า เชิงเขา ลึก ที่เจ้าหน้าเข้าไม่ถึง จะตรวจวัดทุกเช้า 7 โมงเช้า ทุกวัน สมัยโบราณ จดใส้สมุดแล้วส่งมา  ปัจจุบันส่งแอพลิเคชั่นไลน์ ถ่ายรูปส่งมาให้ โดยข้อสังเกตข้อสังเกตหรือสิ่งบอกเหตุ อาทิ  มีฝนตกหนักถึงหนักมาก (มากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน) , ระดับน้ำในห้วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว,

 

สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีของดินบนภูเขา , มีเสียงดัง อื้ออึง ผิดปกติดังมาจากภูเขาและลำห้วย และ  น้ำท่วมหมู่บ้าน และเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้นำชุมชน หรือผู้ใหญ่บ้าน เมื่อเหตุเข้าปัจจัยดังกล่าวนี้ จะไปประกาศที่หอกระจายข่าว เพื่อให้ประชาชนไปยังจุดปลอดภัยที่นัดหมายกันไว้ ซึ่งจะกำหนดจุดไว้แล้วแต่ละหมู่บ้าน

 

นายสุวิทย์  กล่าวว่า สำหรับฤดูฝน ปี  2565 กรมทรัพยากรธรณี ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล  สำรวจเก็บข้อมูลทางธรณีวิทยาและสภาพแวดล้อมของพื้นที่เบื้องต้น และรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอื่น พบว่าใน 54 จังหวัดทั่วประเทศ 517 อำเภอ 2,845 ตำบล 18,215 หมู่บ้าน โดยแบ่งเป็น

 

"ภาคเหนือ" 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และอุตรดิตถ์ 111 อำเภอ 685 ตำบล 6,552 หมู่บ้าน

 

"ภาคใต้" 14 จังหวัด  ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สตูล สงขลา สุราษฎร์ธานี และยะลา  141 อำเภอ 779 ตำบล 4,839 หมู่บ้าน

 

"ภาคตะวันตก" 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี,ตาก ,ประจวบคีรีขันธ์,เพชรบุรี และราชบุรี  44 อำเภอ 253 ตำบล 1,361 หมู่บ้าน

 

"ภาคตะวันออก" 7 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง และ สระแก้ว 52 อำเภอ 253 ตำบล 931 หมู่บ้าน

 

"ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ"  9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย ศรีสะเกษ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี 90 อำเภอ 434 หมู่บ้าน 2,335 หมู่บ้าน

 

"ภาคกลาง" 10 จังหวัด  ได้แก่ กำแพงเพชร นครนายก นครสวรรค์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สระบุรี และอุทัยธานี 79 อำเภอ 441 ตำบล 2,297 หมู่บ้าน

 

 

เปิดพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ฤดูฝน ปี 2565

 

โดยพื้นที่จังหวัดต่างๆ มีลักษณะพื้นที่เสี่ยงภัยต่อดินถล่มอยู่บริเวณลาดเชิงเขาและที่ลุ่มใกล้เขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงภัยต่อดินถล่มมากเนื่องจากเมื่อมีพายุฝนตกหนักต่อเนื่องจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มตามมาได้  ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชน ดังนั้นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจึงควรให้ความสนใจและระมัดระวังเป็นพิเศษ ลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้านเสี่ยงภัยดินถล่มมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

 

 - อยู่ติดภูเขาและใกล้ลำห้วย

 - มีร่องรอยดินไหลหรือดินเลื่อนบนภูเขา

 - มีรอยแยกของพื้นดินบนภูเขา

 - อยู่บนเนินหน้าหุบเขาและเคยมีโคลนถล่มมาบ้าง

 - ถูกน้ำป่าไหลหลากและท่วมบ่อย

 - มีกองหิน เนินทรายปนโคลนและต้นไม้ ในห้วยใกล้หมู่บ้าน 

 - พื้นห้วยจะมีก้อนหินขนาดเล็กใหญ่อยู่ปนกันตลอดท้องน้ำ

 

อย่างไรก็ดีในปีนี้ต้องย้ำกับพี่น้องประชาชนอีกครั้งว่าปีนี้เป็นปีที่น้ำมาก เพราะฉะนั้นการเฝ้าระวังเรื่องน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม กว่าปีที่แล้วต้องมีความตระหนักมากกว่า ถ้าเชื่อในองค์ความรู้เรื่องวัฒนธรรมพระโคเสี่ยงทาย ที่ทำนายในปีนี้ตรงกับข้อมูลลทางวิทยาศาสตร์ว่า เป็นปีที่น้ำมาก เช่นเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวังตามมาก็คือ เรือกนาไร่ส่วน มีผลกระทบต่อฝนตกหนักต้องระวังมากขึ้น ขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยง คอยฟังสัญญาณเตือนที่แจ้งลงไปในพื้นที่ ให้ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด